วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

ใช่เพียงเดรัจฉาน : สัตวศึกษาในมุมมองของการวิจารณ์เชิงนิเวศ

ธัญญา สังขพันธานนท์[1]







บทนำ

มนุษย์ในปัจจุบันเริ่มตระหนักว่า ปัญหาวิกฤติของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น  มาจากการที่เราถูกครอบงำด้วยโลกทัศน์แบบกลไกนิยม และพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบต่อการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเกินพอดี และนี่คือต้นเหตุที่ผลักดันให้โลกของเราเข้าสู่ภาวะวิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของมนุษย์  ความตระหนักรู้นี้เอง ที่ได้กระตุ้นให้นักวิชาการในสาขาต่าง   เช่น ประวัติศาสตร์  มานุษยวิทยา ปรัชญา ต่างหันมาเปิดมิติการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะฟื้นฟูเยียวยาวิกฤติสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพปกติ ในส่วนของนักวิชาการด้านวรรณกรรม ก็พยายามแสวงหาวิธีการศึกษา และใช้วรรณกรรมเป็นพื้นที่ในการวิเคราะห์และนำเสนอ ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในมิติต่าง ๆ  โดยมีเป้าหมายไม่แตกต่างไปจากนักวิชาการในสาขาอื่น ๆ

 ตัวบทวรรณกรรมเป็นจึงพื้นที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่ง  ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่มีชีวิต เช่น พืชและสัตว์ หรือธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต  ในวรรณกรรมประเภทเรื่องเล่า มักใช้ธรรมชาติเป็นฉากและบรรยากาศ หรือตัวละคร  ความสัมพันธ์เหล่านี้เกิดขึ้นนับแต่มนุษย์รู้จักการเล่าเรื่องมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเล่าแบบปากเปล่า หรือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ดังปรากฏให้เห็นในนิทาน  ตำนานปรัมปรา อันเป็นรูปแบบเรื่องเล่าในยุคเก่า  จนมาถึงเรื่องเล่าสมัยใหม่ ในนวนิยาย เรื่องสั้น หรือแม้แต่กวีนิพนธ์  ธรรมชาติที่กล่าวถึงนี้ได้แก่  พืช สัตว์ รวมไปถึงภูมิทัศน์ต่าง ๆ  ในฐานะสิ่งแวดล้อมในวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม  เรามักจะพบว่า ความสนใจศึกษาเรื่องธรรมชาติในวรรณกรรม  ยังคงให้น้ำหนักไปที่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นพืชพรรณ และภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ มากกว่าจะศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวกับสัตว์  ทั้งที่มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสัตว์ในหลากหลายมิติ ในการสร้างสรรค์ศิลปะวรรณกรรมของมนุษย์ มักจะนำเอาเรื่องราวของสัตว์มาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาเสมอ  เราอาจเห็นได้อย่างชัดเจนในนิทานอีสป ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในวัฒนธรรมกรีก และแพร่กระจายไปทั่วโลก ก็เป็นนิทานเกี่ยวกับสัตว์แทบทั้งหมด ในขณะที่นิทานชาดกในพุทธศาสนาซึ่งเป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์  ล้วนแล้วแต่เคยเสวยพระชาติเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นมีอยู่ในชาดกถึง 123 เรื่อง และหากนับเป็นชนิดของสัตว์เดรัจฉานก็มีอยู่ถึง 35 ชนิด (เฉลิมวุฒิ วิจิตร,2558 : 176) ในนิทานพื้นบ้านของไทยเองก็มีตัวละครที่เป็นสัตว์อยู่มิใช่น้อย ดังที่นักคติชนวิทยาได้จัดประเภทนิทานกลุ่มนี้ว่า นิทานสัตว์  กระทั่งมาถึงวรรณกรรมร่วมสมัย ประเภทนวนิยาย เรื่องสั้นและบทกวี ก็มีการนำเสนอเรื่องราวของสัตว์มาโดยตลอด  แต่การศึกษาเรื่องของสัตว์ในวรรณกรรมก็ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักวิชาการวรรณกรรมไทยมากนัก
การให้ความสนใจเรื่องสัตว์ในวรรณกรรมในเชิงศึกษาวิเคราะห์ ปรากฏชัดเจนในวงวิชาการตะวันตก
นักวิชาการบางคนเห็นว่า  สัตว์เป็นสิ่งที่ตรึงใจ  ปรากฏในงานศิลปะและเรื่องราว  ผ่านช่วงเวลาและข้ามวัฒนธรรมของมนุษย์มากที่สุด (Mierek, 2010: online ) สอดคล้องกับที่  Greg Garrard  (2004 ) เห็นว่า   สัตว์ปรากฏตัวในงานเขียนและวรรณกรรมมุขปาฐะมานานแล้ว  มันถูกใช้เป็นตัวอย่างสำหรับที่จะปฏิบัติตาม หรือหลีกเลี่ยง ในนิทานที่ทำหน้าที่เป็นมาตรฐานของการสั่งสอนคุณธรรม  สัตว์ถูกนำเสนอให้เป็นตัวแทนของคุณลักษณะของมนุษย์และเคร่งศาสนาต่าง ๆ สัตว์ในงานวรรณกรรมถูกนำมาใช้ในการสอนบทเรียนศีลธรรมและศาสนา  หรือการใช้เพื่อเสียดสีและสะท้อนความบกพร่องของมนุษย์และการทุจริตทางการเมือง ข้อสังเกตของ Garrard ข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นบทบาทของสัตว์ในวรรณกรรมว่า มักจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมนุษย์ในทางใดทางหนึ่งเสมอ  และการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการศึกษาในบริบทของมนุษยศาสตร์

 สัตว์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ  มีความสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างใกล้ชิด  ทฤษฎีวรรณกรรมที่ให้ความสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน รู้จักกันในนามทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศ (ecocriticism) หรือในอีกชื่อคือ การวิจารณ์เชิงสิ่งแวดล้อม(Environmental criticism) 

 ทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศ เป็นวิวัฒนาการล่าสุดในพื้นที่ของการวิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรม เริ่มปรากฏเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1990 ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยมีแนวคิดพื้นฐานว่าโลกของมนุษย์และโลกของธรรมชาติกายภาพ มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด  ดังนั้นการศึกษาภาพตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในวรรณกรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมในโลกปัจจุบัน   William Rueckert  ในบทความชื่อ  Literature and Ecology: An experiment in Eco criticism ตีพิมพ์เมื่อปี 1978  เป็นนักวิจารณ์คนแรกที่ใช้คำว่า การวิจารณ์เชิงนิเวศพร้อมให้ความหมายว่า คือการประยุกต์แนวคิดนิเวศวิทยามาใช้ในการศึกษาวรรณกรรม คำว่าการวิจารณ์เชิงนิเวศ (ecocriticism) ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในฐานะทฤษฎีวรรณคดีในปี 1996 (ธัญญา สังขพันธานนท์.2559 : 321)
         อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่ม และพัฒนาการวิจารณ์เชิงนิเวศให้มั่นคง และแพร่หลายคือ ศาสตราจารย์  Cheryll  Glotfelty  แห่งมหาวิทยาลัยเนวาดา สหรัฐอเมริกา  เธอให้ความหมายการวิจารณ์เชิงนิเวศว่า เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ยึดโลกเป็นศูนย์กลางที่จะนำไปสู่การศึกษาวรรณกรรม   ในทัศนะของ Glotfelty การวิจารณ์แนวอนุรักษ์ธรรมชาติ มีลักษณะที่แตกต่างจากทฤษฎีการวิจารณ์แนวอื่น ๆ  โดยทั่วไปแล้ว  ทฤษฎีทางวรรณคดีให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียน ตัวบทและโลก  ในวรรณคดีส่วนใหญ่ คำว่า โลก (world) มีความหมายที่โยงใยถึงสังคม หรือสังคมมณฑล (social sphere)  แต่การวิจารณ์เชิงนิเวศอธิบายคำว่า โลกในความหมายเฉพาะโลกของระบบนิเวศหรือ นิเวศมณฑล (ecosphere)    เธอกล่าวว่า หากเราเห็นด้วยกับกฎของนิเวศวิทยาที่ว่า สรรพสิ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เราก็สามารถอนุมานได้เช่นกันว่า วรรณคดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับโลกเฉพาะวัสดุทางสุนทรียศาสตร์เท่านั้น   แต่มีความเกี่ยวข้องกันและอยู่ในระบบโลก พลังงาน วัตถุดิบและปฏิสัมพันธ์ทางความคิด (Glotfelty.1996 ; xviii-xix)

คำว่า การวิจารณ์เชิงนิเวศ มีความหมายมากกว่าการศึกษาเฉพาะธรรมชาติ  แต่ได้ขยายขอบข่ายให้กว้างขึ้น และมีวิธีการศึกษาวรรณกรรมที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยรวมเอาประเด็นในการศึกษาธรรมชาติ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ไว้ด้วยกัน  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการวิจารณ์เชิงนิเวศเป็นทฤษฎีที่มีความเป็นสหวิทยาการมากที่สุดทฤษฎีหนึ่ง ในการศึกษาวรรณกรรมและวัฒนธรรมศึกษา  วิธีการสำคัญของทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศ คือการวิเคราะห์บทบาทของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในวรรณกรรม  มีขอบข่ายพื้นที่ในการศึกษาที่ครอบคลุมตั้งแต่การศึกษางานเขียนแนวธรรมชาติ (Nature writing) ไปจนถึงวรรณกรรมศึกษา สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์  อาจกล่าวได้ว่า การวิจารณ์เชิงนิเวศ เป็นการศึกษาวรรณกรรมและสิ่งแวดล้อม จากมุมมองแบบสหวิทยาการที่รวมเอาศาสตร์ต่าง ๆ มาใช้  ทำให้การวิเคราะห์ตีความวรรณกรรมมีเป้าหมายค่อนข้างชัดเจน  คือเป็นการศึกษาวรรณกรรมเพื่อการอนุรักษ์และพิทักษ์สิ่งแวดล้อม   นักวิจารณ์บางคนถึงกับกำหนดบทบาทของการวิจารณ์ไว้ว่า  เป็นการเตือนประชาชนให้หันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังที่ Thomas K.  Dean ในงานเขียน What is Eco-Criticism?  ชี้ให้เห็นว่า การวิจารณ์เชิงนิเวศ เป็นการวิจารณ์ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ในการที่จะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับโลกธรรมชาติ ในยุคที่สิ่งแวดล้อมกำลังถูกทำลายอย่างรุนแรง เนื่องจากวิกฤตการณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมส่งผลให้มนุษย์ไม่สามารถติดต่อกับโลกธรรมชาติได้ (Dean, 1994)   นักวิจารณ์เชิงนิเวศจึงมีภารกิจที่แน่ชัด ในการเรียกร้องให้ศึกษาสิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ของการทำลายสิ่งแวดล้อม   การวิจารณ์เชิงนิเวศได้ตำหนิแนวคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentric) [2] ว่า เป็นวิถีทางในการสร้างความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ การวิจารณ์เชิงนิเวศจึงเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณกรรมแบบองค์รวม เพื่อที่จะค้นหาและตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ที่เห็นว่าในการศึกษาวรรณกรรมนั้น เราไม่อาจจะกำหนดตำแหน่งของธรรมชาติกับมนุษย์ให้อยู่ในฝั่งตรงกันข้ามกัน  แต่เป็นการตรวจสอบว่า มนุษย์คือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ไม่ได้เป็นนายหรือทาสของธรรมชาติ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบอันซับซ้อน (Fernandez, Jasmine, 2014 :188)
         เช่นเดียวกับทฤษฎีวรรณคดียุคหลังสมัยใหม่ ทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศ ไม่ได้มีขอบเขตของการศึกษาจำกัดเฉพาะอยู่กับวรรณกรรมแนวธรรมชาติเท่านั้น  แต่ยังสามารถศึกษาในพื้นที่ของสื่ออีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ทัศนศิลป์  ดนตรี และภาพยนตร์ ( Buell, Heise, and Thornber, 211:419)  ขอบข่ายเนื้อหาที่ศึกษาก็ครอบคลุมเรื่องราวและประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันได้แก่เรื่องของธรรมชาติ  นิเวศวิทยา สังคม วัฒนธรรม สัตว์ ภูมิทัศน์ ฯลฯ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสัตว์นั้น  Garrard. (2004: 144) เห็นว่า  การศึกษาเรื่องสัตว์ (animal study) หรือ "สัตวศึกษา"[3] เป็นพันธมิตรที่สำคัญมากของการวิจารณ์เชิงนิเวศ นั่นหมายความว่า นักวิจารณ์เชิงนิเวศหยิบยกเรื่องราวของสัตว์ที่ปรากฏในตัวบทวรรณกรรมหรือวัฒนธรรมอื่น ๆ มาเป็นประเด็นในการศึกษาด้วยเช่นกัน

         บทความนี้จะเน้นหนักและให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ในมุมมองของทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศ  โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะร่วมกันสร้างองค์ความรู้  และพัฒนาระเบียบวิธีใหม่ ๆ ในการศึกษาและวิจารณ์วรรณกรรมไทย  เนื่องจากทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศกำลังเป็นทฤษฎีที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักวิชาการทั่วโลก   แต่ในแวดวงวิชาการด้านวรรณกรรมศึกษาของไทย ยังถือว่าเป็น "ของใหม่" และยังต้องพัฒนาอีกมาก ทั้งในด้านองค์ความรู้และระเบียบวิธีในการศึกษา   นอกจากนี้แล้วผู้เขียนจะสำรวจและนำเสนอให้เห็นงานศึกษาและวิจัยเรื่องสัตว์ ตามแนวทางการวิจารณ์เชิงนิเวศในช่วงที่ผ่านมา ว่ามีลักษณะและวิธีการศึกษาที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง    และเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาวรรณกรรมไทยมากขึ้น ผู้เขียนจะได้ทดลองนำแนวคิดและระเบียบวิธีในการศึกษาเรื่องสัตว์ตามทฤษฎีดังกล่าวมาวิเคราะห์สัตว์ในวรรณกรรมไทย ซึ่งผู้เขียนหวังว่าจะได้เป็นแนวทางให้กับนิสิตนักศึกษาและนักวิชาการด้านวรรณกรรมศึกษาได้นำ ไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาตัวบทวรรณกรรมไทยต่อไป
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสัตว์และความเป็นสัตว์ในทัศนะของนักคิดตะวันตก
ก่อนที่จะกล่าวถึงแนวทางการวิเคราะห์และศึกษาเรื่องสัตว์หรือ "สัตวศึกษา"  ในวรรณกรรมตะวันตกและไทยตามแนวการศึกษาของทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศ  ผู้เขียนจะได้สำรวจ เกี่ยวกับความเห็นและข้อถกเถียงเกี่ยวกับสัตว์ในหมู่นักวิชาการชาวตะวันตก  ที่มีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยสังเขป  เพื่อให้เห็นว่ามนุษย์นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีมุมมองและความคิดเห็นต่อสัตว์อย่างไรบ้าง  ความคิดดังกล่าวนำมาสู่การมองและปฏิบัติต่อสัตว์ในลักษณะใด  ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสัตว์ในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าจะมีการศึกษาสัตว์ในแนวทางของการวิจารณ์เชิงนิเวศ  ส่วนใหญ่จะเป็นข้อถกเถียงที่ได้รับความสนใจจากนักคิดชาวยุโรป-อเมริกันหลายสาขา  อาทิ   นักปรัชญา นักจิตวิทยาสัตว์ และนักมังสวิรัติ เป็นต้น (Mthatiwa,2010: 19) 
 ประเด็นที่นักคิดชาวตะวันตกเหล่านี้ให้ความสนใจ ได้แก่เรื่องของศีลธรรม (morality) และจริยธรรม (ethics) เกี่ยวกับสัตว์   ธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ ตลอดจนข้อคำถามที่ว่า มนุษย์ควรมีภาระผูกพันต่อสัตว์หรือไม่  รวมไปถึงสิทธิของสัตว์  นักปรัชญามักจะให้ความสนใจในเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมมากเป็นพิเศษ   จริยธรรมมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวคุ้มครองสัตว์  เพราะได้รับแรงหนุนจากคุณธรรมและค่านิยมของผู้คน  นำไปสู่ข้อกำหนดและวิธีการที่คนรู้สึกเกี่ยวกับสัตว์และวิธีการที่พวกเขาปฏิบัติต่อพวกมัน อาจกล่าวได้ว่า จริยธรรมของบุคคลเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา   ดังนั้นจริยธรรมเกี่ยวกับสัตว์จึงขึ้นอยู่กับจริยธรรมของมนุษย์  โดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันตก  ดังความเห็นที่ว่า  คำถามเกี่ยวกับสถานะทางภววิทยา และจริยธรรมของสัตว์ได้รับความนิยมในโลกนักปรัชญาที่พูดภาษาอังกฤษ (Turner,2005) อย่างไรก็ตามเนื่องจากระบบจริยธรรมและศีลธรรมของตะวันตกมักเต็มไปด้วยอคติ จริยธรรมของสัตว์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบศีลธรรมของมนุษย์ จึงเต็มไปด้วยอคติด้วยเช่นกัน  ซึ่งอาจเห็นร่องรอยเช่นนี้ได้จากมุมมองของนักปรัชญานับแต่สมัยกรีกเป็นต้นมา 
คาวาลิเอริ (Cavalieri.2006 : 54-55 ) แบ่งช่วงเวลาสำคัญ ในการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับการปฏิบัติของมนุษย์ต่อสัตว์ได้เป็น 3 ช่วง คือ
 ช่วงแรก คือข้อขัดแย้งในยุคกรีกโบราณ จนถึงยุคกลางและเรอแนส์ซองส์ ระหว่างแนวคิดที่ว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหมดต่างมีสายใยเชื่อมโยงกัน กับแนวคิดการหาข้ออ้างอันชอบธรรมของมนุษย์ และการใช้งานสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ นักคิดกลุ่มแรกเช่น เช่น ปิทากอรัส (Pythagorus,852-500 BC) นักปราชญ์โบราณชาวกรีกซึ่งเป็นนักมังสวิรัติ ผู้เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดระหว่างคนกับสัตว์ เห็นว่า มนุษย์กับสัตว์ควรอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน พลูตาร์ค (Plutarch, 46?-120 AD) ซึ่งเป็นชาวมังสวิรัติอีกคนเห็นว่า การที่มนุษย์คนแรกหันมากินเนื้อสัตว์ถือเป็นการกระทำที่ผิดธรรมชาติ และเห็นว่าสัตว์มีคุณค่าและความงามที่ช่วยประเทืองธรรมชาติ นักคิดกลุ่มหลังได้แก่อริสโตเติล ( Aristotle,385-323 BC) เชื่อว่าสัตว์ปราศจากเหตุผล ทำให้มีความแตกต่างจากมนุษย์และเชื่อว่าสัตว์มีอยู่ในโลกก็เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้น (Aristotle. cited in “Animal Welfare in Context” Animal World net.: online)  ส่วนนักปราชญ์ยุคกลางอย่าง โธมัส อไควนัส (Aquinas.1225 1274) เห็นว่า การฆ่าสัตว์และการใช้ประโยชน์ในจากสัตว์ในทุกวิถีทางเป็นสิ่งที่ยอมรับได้  การทารุณกรรมสัตว์ก็ดี หรือการที่มนุษย์ปฏิบัติต่อสัตว์อย่างโหดร้ายเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะมนุษย์จะปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอื่นในทำนองเดียวกัน  แม้แต่นักปรัชญาในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) อย่าง เดส์การ์ตส์ (Descartes)  ก็ยังคงมีความเชื่อว่า  สัตว์มีคุณลักษณะแบบเครื่องจักรกล หรือหุ่นยนต์ (automata) ที่ไม่รู้สึกเจ็บปวด Animals are like robots: they cannot reason or feel pain”  (Proctor, 2013)  เหตุผลสำคัญที่ทำให้เดส์การ์ตส์เชื่อเช่นนี้ ก็เพราะเขาเห็นว่าสัตว์ไม่สามารถพูดจาหรือแสดงความรู้สึกให้เห็น  ทัศนะของเดส์การ์ตส์ในเรื่องนี้ดูจะพ้นพรมแดนด้านศีลธรรม และค่อนข้างมีความสุดโต่งอยู่มาก  ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มในยุคนั้นผ่าตัดสัตว์เป็นๆ (vivisection)  เพื่อศึกษาการทำงานของอวัยวะ เช่น หัวใจ 
ในช่วงที่สอง ยุคแสงสว่างแห่งปัญญา (Enlightenment)  ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของลัทธิเหตุผลนิยม นักปรัชญาให้ความสนใจศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ในวรรณคดีและปรัชญา  โดยเน้นความเหนือกว่าของจิตใจมนุษย์ที่มีอำนาจในการให้เหตุผล  ดังนั้นทัศนะที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์  ก็อยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุผลนิยม อิมมานูเอล คานท์ (Kant, 1724-1860) มีแนวคิดว่ามนุษย์ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงต่อสัตว์  คานท์มองว่าสัตว์ต่ำกว่ามนุษย์ เพราะสัตว์ขาดเหตุผลและไม่เป็นอิสระ   (Mthatiwa,2010:20 คานท์เห็นว่า มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวที่มีสิทธิ์เรียกร้องเรื่องเหตุผล และมีคุณค่าภายในตนเอง  ด้วยมุมมองนี้  สัตว์จึงไม่ใช่บุคคล เพราะมันไม่มีเหตุผล ไม่มีจิตสำนึกในตัวเอง จึงไม่มีความสามารถในการคิดเรื่องศีลธรรมหรือเหตุผล  (Kant 64 cited in Pojman,Louis.,Pojman,Pual and Mcshane,Katie. 2012) แนวคิดของคานท์ขัดแย้งกับความคิดของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin, 1809-1882) ที่เห็นว่าสัตว์ชั้นต่ำก็มีอารมณ์และความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ ความสุข หรือความเจ็บปวด  เขายกตัวอย่างพฤติกรรมและการแสดงออกของสัตว์บางชนิดที่ได้มาจากการสังเกต  เช่น การแสดงความจงรักภักดีของสุนัขที่มีต่อเจ้าของ หรือความรักของสัตว์เพศแม่ที่มีต่อลูกของมัน   แนวคิดและความเห็นที่มีต่อสัตว์ของ ดาร์วินนับว่าขัดแย้งกับนักคิดก่อนหน้านี้  ในประเด็นที่เขาไม่ได้นำเรื่องเหตุผลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนช่วงที่สาม ศตวรรษที่ 20 ถึงทศวรรษที่ 1970-1980 มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger, 1889-1976) ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสัตว์ไว้ในงานเขียนชื่อ The Fundamental Concepts of Metaphysics.  Heidegger เห็นว่า สัตว์เป็นผู้น่าสงสาร (Animal is poor) ไร้ภาษาพูด ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีมือ  ไร้ที่อยู่อาศัยและไร้พื้นที่ (Elden,2006) คำว่า "น่าสงสารหรือต่ำต้อย" เป็นถ้อยคำที่มีความหมาย เพราะมันแสดงถึงความไม่มีในสิ่งที่ควรจะมี  ไฮเดกเกอร์เป็นนักปรัชญาแนวอัตถิภาวนิยม (existentialism)  เขาจึงให้ความสนใจในเรื่อง "การดำรงอยู่" หรือ "ความมีอยู่"  (existence) ทั้งของมนุษย์และสัตว์ แนวคิดของเขาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์สะท้อนให้เห็นแนวคิดการแยกคู่ตรงข้าม และการจัดลำดับชั้นระหว่างมนุษย์กับสัตว์ได้อย่างชัดเจน
         จะเห็นได้ว่าข้ออภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับสัตว์ของนักปรัชญายุโรป-อเมริกันที่กล่าวมาข้างต้น จะให้น้ำหนักไปในเรื่อง ความเป็นสัตว์ (animality)  ที่เปรียบเทียบผ่านความเป็นมนุษย์ (human) ซึ่งนักปรัชญาส่วนใหญ่จะมองว่าสัตว์ต่ำต้อยกว่ามนุษย์ในทุกวิถีทาง แนวคิดดังกล่าวถูกพิจารณาอยู่บนแนวคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และรากฐานของปรัชญาแบบเหตุผลนิยม
มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับสัตว์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง  คือประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์และจริยธรรมของมนุษย์ที่ควรมีต่อสัตว์  คำถามสำคัญก็คือสิทธิของสัตว์ (animal rights) มีจริงหรือไม่ และมนุษย์ควรมีภาระผูกพันทางจริยธรรมต่อสัตว์หรือไม่ อย่างไร (Mthatiwa,2010 : 20)  ข้อถกเถียงเหล่านี้นำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของสัตว์ (หรือ animal rights movement) และข้อเสนอเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ (animal welfare) ในเวลาต่อมา  นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ท้าทายอย่างมากต่อแนวความคิดที่ว่า มนุษย์อยู่เหนือสัตว์สายพันธุ์อื่น ที่มีความเชื่อกันมาอย่างยาวนานในหมู่ชาวคริสต์  อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการปลดปล่อยสัตว์ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่   แต่มันเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มานานแล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวคิดของศาสนาฮินดูและพุทธที่เน้นอย่างมากในเรื่องความเมตตาสงสารต่อสรรพสัตว์ เช่นเดียวกับความเมตตาที่มีต่อมนุษย์ ซึ่งพบได้น้อยมากในประเพณีของชาวตะวันตก มีกฎหมายไม่กี่ฉบับแสดงให้เห็นความตระหนักในสวัสดิภาพสัตว์บางส่วนที่พบในพันธสัญญาเดิม (Singer,1985)
         ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของสัตว์เริ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980  นักคิดที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหัวหอกในการเสนอความคิดเพื่อปลดปล่อยสัตว์ (animal liberation) คือ ปีเตอร์ ซิงเกอร์  (Peter Singer)  และ ทอม เรแกน (Tom Regan)  ซิงเกอร์ชี้ว่า การทารุณสัตว์ก็คล้ายคลึงกับการจับคนมาเป็นทาส ซิงเกอร์ ต่อต้านแนวคิดสายพันธุ์นิยม (speciesism) เพราะเห็นว่ามันคืออคติที่ไร้เหตุผลซึ่งส่งผลให้เราปฏิบัติต่อสัตว์และมนุษย์แตกต่างกันอย่างมาก    เขาเสนอแนวคิดในเรื่องนี้ไว้ในงานเขียนสำคัญหลายเล่ม เช่น Animal Liberation: Towards an End to Man’s Inhumanity to Animals ( 1975) และ The Animal Liberation Movement: Its Philosophy, Its Achievements, And Its Future (2000)    คำขวัญที่เป็นเสมือนป้ายชื่อของซิงเกอร์ ก็คือ คำกล่าวที่ว่า "สัตว์ทั้งหมดมีความเสมอภาค" (All  animals are equal)   เขาได้เสนอความคิดที่น่าสนใจว่า  สัตว์ก็มีความรู้สึกเจ็บปวดและความพึงพอใจเหมือนกับมนุษย์    ในเมื่อมนุษย์ทั้งหมดมีความเสมอภาคกัน  ดังนั้นสัตว์จึงควรจะมีสิทธิ์เท่าเทียมกับมนุษย์  (“...that animals ought to have all of the rights that we think humans ought to have”) (Singer,1985)  ในทัศนะของซิงเกอร์ ความเสมอภาคทางศีลธรรมไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง  ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายก็ไม่ได้มีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเราจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม  แต่กระนั้นเราก็ยังคิดว่าทุกคนล้วนเสมอภาคกัน ความเสมอภาคทางศีลธรรมเป็นเรื่องของอุดมคติ เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีการที่เราควรปฏิบัติต่อคนอื่น ๆ ด้วยความสนใจและความสนใจเหล่านั้นควรจะได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน
         ในบทความชื่อ “All Animals are Equal” ซิงเกอร์ เสนอว่า เราควรให้ความนับถือต่อสัตว์ เช่นเดียวกับที่เราให้ความนับถือมนุษย์  ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ต่างก็มีความเท่าเทียมกัน   เขาโจมตีนักคิดกลุ่มสายพันธุ์นิยม  และให้คำนิยามว่า ความคิดแบบสายพันธุ์นิยมคือความเอนเอียงหรือทัศนะที่มีอคติ  เพราะชื่นชมและให้ความสนใจแต่สายพันธุ์ของตนเอง แต่กลับต่อต้านสมาชิกของสายพันธุ์อื่น  ดังนั้นต้นเหตุที่มนุษย์ปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไม่เท่าเทียม ก็คือการแบ่งแยกสายพันธุ์นั่นเอง นอกจากนี้แล้วมนุษย์ยังใช้สัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ ในการศึกษาทดลอง เพื่อหาวิธีการที่รักษาเยียวยาตนเองให้ปลอดภัย เขายังเห็นว่า นักปรัชญาทั้งหลายล้มเหลวในการตั้งคำถามถึงความอยุติธรรมเหล่านี้ มิหนำซ้ำยังช่วยยืนยันสนับสนุนความเป็นนักสายพันธุ์นิยมให้หนักแน่นยิ่งขึ้น  เนื่องจากนักปรัชญาสร้างหลักการพื้นฐานว่าด้วยความเสมอภาค  ในความหมายถึงความเสมอภาคของมนุษย์  นี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะความคิดที่เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน  จึงทำให้เกิดความเท่าเทียมในสายพันธุ์อื่นน้อยมาก (Singer,1985)
             ทอม เรแกน  เห็นด้วยกับความคิดของซิงเกอร์หลายประการ  แต่มีแนวคิดสุดโต่งมากกว่า เขายืนยันว่า สัตว์ทั้งหลายมีสิทธิ์บนพื้นฐานธรรมชาติของมัน เรแกนเคร่งครัดในหลัก จริยศาสตร์  เขายืนยันความเสมอภาคระหว่างมนุษย์กับสัตว์ว่า   ต่างก็มีคุณลักษณะทางจิตวิทยาเหมือนกัน เช่น มีความปรารถนา ความจำ สติปัญญา  การปกป้องสิทธิสัตว์ของเรแกนมีความแตกต่างกับซิงเกอร์ ตรงที่เขาเสนอความคิดแบบไม่ประนีประนอม   เรแกนเห็นว่า สัตว์ไม่ควรถูกทรมาน หรือใช้ประโยชน์ เขาเสนอให้มีการยกเลิกการใช้ประโยชน์จากสัตว์ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะส่งผลประทบต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ (Nordin,2001:4)
            ในบทความเรื่อง “The Case for Animal Rights” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ In Defense of Animals  
เรแกน ประกาศชัดว่า เขาเป็นผู้สนับสนุนสิทธิสัตว์ และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์ ที่มีเป้าหมายชัดเจน 3 ประการคือ : (Regan,1985)
                        (1) ให้ยกเลิกการใช้สัตว์ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์
                        (2) ให้ยกเลิกการใช้สัตว์ในการเกษตรเชิงพาณิชย์ทั้งหมด และ
                        (3) กำจัดการใช้ประโยชน์จากสัตว์เพื่อการกีฬาและการล่าสัตว์ทุกชนิด
            เรแกนเชื่อว่าคนส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิของสัตว์ แต่ก็ยากที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนี้ เพราะยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน เขายกตัวอย่างว่า คนไม่เห็นด้วยกับการทดลองสัตว์ในฟาร์มโรงงาน เพราะเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธของสัตว์ แต่การใช้สัตว์ในการเกษตรกลับเป็นสิ่งถูกต้อง ตัวอย่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรแกนเห็นว่า  มันไม่ได้เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณี   แต่เป็นความผิดพลาดของระบบทั้งหมด  ที่ทำให้เราคิดว่าสัตว์คือทรัพยากรของเรา (Regan,1985 :13-14) อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของซิงเกิร์และเรแกนได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ของกลุ่มนักวิจารณ์เชิงนิเวศและนักสิ่งแวดล้อมนิยมในเวลาต่อมา
  จากการพิจารณาข้อถกเถียงต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจสรุปได้ว่า แนวคิดเกี่ยวกับสัตว์มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนออกเป็นสองขั้ว   ขั้วหนึ่งนั้นยังคงอยู่ในกรอบคิดอันบิดเบี้ยวซึ่งมีมาแต่อดีต   และอีกขั้วคือแนวคิดที่ได้ก้าวข้ามความบิดเบี้ยวเหล่านั้นมาแล้ว   อย่างไรก็ตามข้อถกเถียงเกี่ยวกับสัตว์ในทัศนะของนักปรัชญาไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงมากนักกับการศึกษาสัตว์ในวรรณกรรม  ทั้งที่ในความเป็นจริง การศึกษาและวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับสัตว์ก็มีมาช้านานแล้ว
สัตวศึกษาในมุมมองของการวิจารณ์เชิงนิเวศ
           ประเด็นที่ว่าด้วยข้อถกเถียงเกี่ยวกับสัตว์ที่ได้นำเสนอมาข้างต้น  เราอาจได้ข้อสังเกตประการหนึ่งว่า การศึกษาแต่เดิมนั้น อยู่ภายใต้ความสนใจของนักปรัชญาเสียเป็นส่วนใหญ่  การรับรู้  การอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับสัตว์ในมุมมองต่าง ๆ  เป็นความพยายามในการสร้างความหมายของสัตว์  ความเป็นสัตว์  และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ของนักคิดแต่ละยุคสมัยและแต่ละกลุ่มความคิด ได้กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญ และส่งผลกระทบต่อวิธีการนำเสนอภาพแทนของสัตว์ในวรรณคดี ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่มีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมไม่ได้เป็นสื่อกลางในการเข้าถึงสัตว์เหล่านั้นโดยตัวมันเอง    แต่ทัศนคติ ความไม่ยุติธรรม หรือความเห็นอกเห็นใจของเรา จะถูกกลั่นกรองผ่านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีกชั้นหนึ่ง
            มุมมองเกี่ยวกับสัตวศึกษาเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อนักวิจารณ์เชิงนิเวศ (ecocritics) เข้ามาให้ความสนใจในเวลาต่อมา  นักวิจารณ์เชิงนิเวศมองว่า ปัญหาภัยพิบัติที่เกี่ยวกับระบบนิเวศในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การสูญพันธุ์ของสัตว์ รวมทั้งการหายไปของสัตว์และพืชบางสายพันธุ์  ล้วนแล้วแต่มาจากสาเหตุสำคัญ คือพฤติกรรมและการกระทำที่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ได้กระทำต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่มิใช่มนุษย์  ดังนั้นในการศึกษาและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวรรณกรรม นักวิจารณ​์เชิงนิเวศจึงต่อต้านและพยายามขจัดแนวคิดดังกล่าวให้หมดไป  ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงลึก (deep ecology) ในฐานะโลกทัศน์แบบใหม่ที่มีหลักการพื้นฐานว่า ทุกชีวิตมีสิทธอย่างเท่าเทียมที่จะอาศัยและดำรงอยู่ รวมถึงการให้ความเคารพสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้  ดังที่  อาร์น เนส (Arne Naess อ้างถึงใน กุนนาร์ รุนด์เกรน.2557 : 296)  กล่าวว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  และทุกส่วนของธรรมชาติก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการพัฒนาและเติบโต เป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้นที่อยู่ภายในโลกของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ซึ่งสิทธิต่าง ๆ ตามแบบประชาธิปไตยนั้น  ไม่ได้มีไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น แต่มีไว้สำหรับพืชและแร่ธาตุด้วย
ระบบคิดแบบนิเวศวิทยาเชิงลึก ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาสิ่งแวดล้อม ซึ่งยึดถือในคุณค่าภายในทั้งของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Swatilekha,2015)  เป็นการมองโลกแบบองค์รวมที่พยายามทำความเข้าใจว่า โดยเนื้อแท้ของโลกนั้น ทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศต่างมีหน้าที่ร่วมกัน  หลักการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับสัตว์ในวรรณกรรม  นอกจากนี้แล้ว สัตวศึกษาในแนวทางของการวิจารณ์เชิงนิเวศ ยังยึดมั่นในสำนึกทางสิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญาเชิงนิเวศ ในการทำความเข้าใจธรรมชาติและคุณค่าของชีวิตในทุกรูปแบบ  ด้วยฐานคิดนี้เองทำให้สัตวศึกษาในมุมมองของการวิจารณ์เชิงนิเวศ  มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับสัตวศึกษาในแนวทางอื่น ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตของบูเอลล์, ไฮนส์, และธอร์นเบอร์  (Buell Heise ,Thornber. (2011: 431)  ที่อภิปรายเกี่ยวกับฐานที่มั่นของนักวิจารณ์เชิงนิเวศว่ามักจะเกี่ยวข้องทับซ้อนกันเสมอกับการนำเสนอภาพของสัตว์ ความพยายามในการอนุรักษ์ธรรมชาติในสังคมตะวันตก มักจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับการคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์ของสัตว์  ประเด็นทั้งสองนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการปกป้องธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่  แต่ภาพของสัตว์ในจินตนาการทางสิ่งแวดล้อม  มักจะพ้นไปจากเรื่องของการนำสัตว์มาใช้เชิงอุปมาและสัญลักษณ์  อย่างไรก็ตามพวกเขาเห็นว่า แม้ว่าสัตว์จะมีวิวัฒนาการที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด แต่มันกลับได้รับการนำเสนอแบบตัดขาดและแยกจากมนุษย์เสียมากกว่า  แม้สัตว์จะมีความทับซ้อนกับมนุษย์ในเครือข่ายระบบนิเวศ แต่ความสนใจของผู้ศึกษากลับไปให้ความชื่นชมต่อเสน่ห์ของนก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิด โดยไม่ได้ใส่ใจที่จะทำความเข้าใจระบบนิเวศโดยภาพรวม
             ข้อวิจารณ์นี้ดูเหมือนว่าบูเอลล์, ไฮส์, และธอร์นเบอร์  เห็นว่าการศึกษาเรื่องของสัตว์ในวรรณกรรมของนักวิจารณ์เชิงนิเวศที่ผ่านมา ยังไม่ค่อยสอดคล้องกับมโนทัศน์สำคัญของการวิจารณ์เชิงนิเวศมากนัก เพราะผู้ศึกษายังไม่ได้นำไปเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในระบบนิเวศ  พวกเขาได้ชี้นำให้เห็นว่า  วรรณคดีทั้งของตะวันตกและไม่ใช่ตะวันตก   เป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ที่จะตรวจสอบในประเด็นเกี่ยวกับสัตว์ แม้ว่าจุดสนใจของพวกเขาจะอยู่ที่ประเด็นอื่น  แต่เรื่องราวของสายพันธุ์สัตว์นักล่าขนาดใหญ่ เช่น วาฬ  เสือ  สิงโต และช้าง จะครอบครองจินตนาการในวรรณกรรมอยู่เสมอ   เช่น นวนิยายเรื่อง  Moby-Dick ของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ ​(Herman Melville)  นวนิยายเรื่อง The Old Man and the Sea ของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway)  หรือแม้แต่ในนวนิยายของ แจ็ค ลอนดอน (Jack London)  รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling)  และ วิลลี่ยม โฟล์คเนอร์ (William Faulkner)  จะถูกนำมาทดสอบเพื่อค้นหาให้เห็นความเชื่อมโยงการครอบงำของมนุษย์ที่อยู่เหนือสายพันธุ์อื่น  (Buell, Heise , และThornber,2011: 431)
            อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เชื่อมโยงการวิจารณ์เชิงนิเวศกับสัตวศึกษาเข้าด้วยกัน คือความเห็นร่วมเกี่ยวกับการนำเสนอภาพแทนของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแนวคิดในการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์  อันเป็นความคิดกระแสหลักของนักปรัชญาสิ่งแวดล้อมชาวยุโรป  การแบ่งแยกนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการจัดลำดับชั้นระหว่างมนุษย์กับสัตว์  โดยมนุษย์จะวางตำแหน่งของตนเหนือสัตว์เสมอ สอดคล้องกับที่ การ์ราด (Garrard.2004) เห็นว่า สารัตถะสำคัญของการวิจารณ์เชิงนิเวศคือการศึกษาการแบ่งแยกระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติ โดยการตั้งคำถามถึงแนวคิดที่ยึดถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง  สัตวศึกษาในแนวทางของการวิจารณ์เชิงนิเวศจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาการนำเสนอภาพแทนของสัตว​์ในตัวบทวรรณกรรมเป็นสำคัญ
ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับสัตวศึกษา
            จากการศึกษาและสำรวจงานเขียนในแนวสัตวศึกษาของนักวิชาการต่างประเทศ ทั้งที่เป็นชาวตะวันตกและไม่ใช่ชาวตะวันตก  ผู้เขียนพบว่ามีแนวทางในการศึกษาซึ่งสามารถจำแนกได้  3 แนวทาง คือ (1) การศึกษาการนำเสนอภาพแทนของสัตว์ในตัวบทวรรณกรรม  (2) การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และ (3) การศึกษาการประกอบสร้างความเป็นสัตว์และอัตลักษณ์ของสัตว์  ดังจะนำเสนอในรายละเอียดดังนี้
1.      การศึกษาการนำเสนอภาพแทนของสัตว์ 
            สัตวศึกษาในลักษณะนี้จะเน้นไปที่การศึกษาภาพแทน (representation) ของสัตว์ที่ปรากฏในตัวบท  ต่าง ๆ   ทั้งในด้านกลวิธีการนำเสนอ และภาพแทนของสัตว์ที่ปรากฏ  ดังที่ ซูซาน แม็คฮิวจ์​ (Susan McHugh.2006)  เขียนบทความสำรวจสถานภาพของการศึกษาสัตว์ในวรรณกรรม เรื่อง  One or Several Literary Animal Studies? ในแวดวงวรรณกรรมศึกษาของตะวันตก  ในงานชิ้นนี้ แม็คฮิวจ์แสดงให้เห็นว่าการศึกษาสัตว์ในวรรณกรรมนั้นมีอยู่ 3 แนวทางใหญ่ ๆ  คือ  (1) การนำเสนอภาพแทนของสัตว์แบบดี-เลว (2) การพรรณนาหรืออธิบายสัตว์ในงานเขียน และ (3) การศึกษาบริบทของการนำเสนอภาพแทนสัตว์ในวรรณกรรมในบริบทประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์   ข้อสังเกตของ  แม็คฮิวจ์  มีความใกล้เคียงกับการสำรวจของโซเปอร์ (Soper.2005)   ที่ได้กล่าวถึงการนำเสนอภาพแทนของสัตว์ในวรรณคดี ว่ามี 3 วิธีที่เด่น ๆ คือ 1) การนำเสนอแบบสมจริงหรืออย่างเป็นธรรมชาติ (naturalistic)  2) การนำเสนอเชิงเปรียบเทียบ (allegorical) และ 3) การนำเสนอในเชิงเมตตาสงสาร (compassionate)  อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ผู้เขียนเห็นว่า การนำเสนอสัตว์ในเชิงเมตตาสงสาร ตามความเห็นของ โซเปอร์ นั้น  น่าจะเป็นประเด็นที่ควรจัดให้อยู่ในแนวทางของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์มากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางจริยธรรมและสวัสดิภาพของสัตว์   ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงการนำเสนอภาพแทนของสัตว์ในตัวบทวรรณกรรม อาจสังเคราะห์ความเห็นของ แม็คฮิวจ์ และโซเปอร์ออกมาเป็น 3 แนวทางคือ
            1.1.การนำเสนอแบบสมจริง หรือการพรรณนาสัตว์อย่างเป็นธรรมชาติ  เป็นการนำเสนอสัตว์ในฐานะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่อยู่รายรอบตัวมนุษย์ เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอื่น ๆ เช่น พืช  ภูเขา ทะเล ซึ่งก็คือการพรรณนาและอธิบายสัตว์ในงานเขียนตามความเห็นของแม็คฮิวจ์นั่นเอง 
            1.2 การนำเสนอสัตว์ในเชิงเปรียบเทียบหรืออุปลักษณ์  การนำเสนอในลักษณะนี้ปรากฏมากที่สุดในวรรณกรรม  เพราะสัตว์ถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องศีลธรรม และคุณลักษณะของมนุษย์  โดยมนุษย์ใช้สัตว์มาเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นธรรมชาติและตัวตนของตนเอง  หรือกล่าวอีกทางก็คือ  การเปรียบเทียบสัตว์เพื่อนำเสนอภาพแทนธรรมชาติของมนุษย์    ในกรณีนี้สัตว์จะถูกนำมาเป็นตัวเปรียบเทียบ หรืออุปลักษณ์ถึงลักษณะนิสัย พฤติกรรม และธรรมชาติของมนุษย์  ดังนั้นสัตว์จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นมาก สำหรับการประกอบสร้างอุปลักษณ์ (Mthatiwa, 2012)   สัตว์ตัวเดียวกันอาจถูกนำไปใช้ในวิธีการที่หลากหลาย  ดังตัวอย่างเช่น สิงโต อาจใช้เปรียบเทียบเพื่ออ้างอิงที่หลากหลาย เช่น  ความเป็นเจ้าป่า  ความดุร้าย โหดเหี้ยมมากกว่าสัตว์อื่น ๆ
          การอุปลักษณ์หรือการเปรียบเทียบมนุษย์กับสัตว์ หรือสัตว์กับมนุษย์ นับได้ว่าเป็นวิธีการนำเสนอเรื่องราวของสัตว์ในวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่ง   มีประวัติความเป็นมายาวนาน ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องเล่าหลากหลายรูปแบบ ทั้งตำนานปรัมปรา นิทานพื้นบ้าน หรือแม้แต่ในวรรณกรรมสมัยใหม่ ทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์และมุขปาฐะ  การอุปลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์ยังพบได้ในงานศิลปะแทบทุกแขนง  ภาพยนตร์และสื่อสมัยใหม่ การอุปลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์ ในความเป็นจริงแล้ว  มีเป้าหมายอยู่ที่มนุษย์ เป็นการนำเสนอสัตว์ในฐานะที่เป็นกระจกเงาส่องแสดงถึงพฤติกรรมของมนุษย์  (the animal mirror) ซึ่งโยงใยไปสู่เรื่องราวทางศีลธรรม ความดี-เลวของมนุษย์ ดังที่โซเปอร์  (2005: 307)  ให้ข้อสังเกตว่า ในสัตว์ เราค้นพบทั้งลักษณะที่น่าขยะแขยงและน่ายกย่องของเราเอง  ทำให้เห็นว่าตัวตนของเราใกล้ชิดกับสัตว์มากที่สุด  ในขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้เราอยากถอยห่างจากลักษณะที่ไม่ดีของมัน   การนำเสนอสัตว์ในลักษณะนี้มักจะพบมากในนิทานต่าง ๆ อันเปรียบเสมือนมาตรฐานในการอบรมสั่งสอนทางศีลธรรม   นั่นคือสัตว์ถูกนำมาใช้เป็นตัวอย่างสำหรับมนุษย์ที่จะปฏิบัติตามหรือหลีกเลี่ยง   หลักฐานที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างนี้ น่าจะได้แก่ งานวิจัยเรื่อง   Beyond the Dog's Name: A Silent Dialogue among the Shona People ของไลฟ์สัน ตาติรา (Liveson Tatira.2004)   ที่ศึกษาการตั้งชื่อสุนัขของชาวโชนา ในประเทศซิมบับเว  ในบทความนี้ ตาติราแสดงให้เห็นว่า  ชาวโซนาใช้ชื่อสุนัขอย่างกว้างขวาง เพื่อสื่อสารกับญาติ เพื่อนบ้านและสมาชิกในครัวเรือน ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถจะสื่อสารกันได้อย่างตรงไปตรงมา  ดังนั้นจึงทำให้ชื่อสุนัขส่วนใหญ่ของชาวโชนามักจะมีความหมายถึงความคับข้องใจที่ไม่อาจพูดออกมาได้ตรง ๆ  ชื่อของสุนัขถูกนำมาใช้สื่อความหมายโดยอ้อม เพื่อตำหนิ หรือวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบุคคล  ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องทางสังคม   เช่นเดียวกับในสังคมไทย เรายกย่องความซื่อสัตย์และจงรักภักดีของสุนัข  แต่ในขณะเดียวกันเราก็รังเกียจความสกปรกของมัน  การนำสัตว์มาเปรียบเทียบกับลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกสังคมและวัฒนธรรม 
             นักวิจารณ์เชิงนิเวศมองว่าการอุปลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์ หรือที่การ์ราด (Garrad. 2004 : 140) เรียกว่า "สัตวโวหาร" (rhetoric of animality)  ดำเนินไปภายใต้มโนทัศน์ แอนโทรโปมอร์ฟิสม์”  (Anthropomorphism) หรือ แอนโทรโปมอร์ฟิค (Anthropomorpic) ซึ่งหมายถึง "การทำให้เป็นมนุษย์" หรือ "การทำให้มีลักษณะของมนุษย์" [4]  เป็นการบ่งบอกความรู้สึกหรือการกระทำของมนุษย์ให้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์  หรือวัตถุ  หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ  การทำให้เป็นมนุษย์ มีความสัมพันธ์โดยนัยกับแนวคิด มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Anthropocentric) แต่ทั้งสองก็หาได้มีลักษณะร่วมกันเสียทีเดียว (Buell,2006 : 134)   ส่วนคลาร์ค  (Clark.2011: 192) อธิบายความหมายของ "การทำให้เป็นมนุษย์" ว่า คือการสวมใส่ลักษณะ รูปแบบหรือบุคลิกลักษณะของมนุษย์ให้แก่ เทพเจ้า สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว เกี่ยวข้องกับธรรมชาติการใช้ภาษาของมนุษย์ที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ที่ฉายภาพให้เห็นว่า เรามักจะทำความเข้าใจโลกตามขนาดของความสนใจและความปรารถนาของเราเอง  การใช้ภาษาที่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการที่มนุษย์ปฏิบัติต่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์  (non-human) อย่างอยุติธรรม    ภายใต้การนิยามเช่นนี้ แนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดระบบคุณค่าที่ขึ้นอยู่กับความสนใจของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีความหมายต่อการปฏิบัติอย่างผิด ๆ ของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น เชื้อชาติ ชนชั้น และเพศอีกด้วย
            กล่าวโดยสรุป แนวคิดการทำให้เป็นมนุษย์เมื่อพิจารณาในมุมมองของสัตวศึกษา ก็คือ การทำให้สัตว์มีลักษณะเหมือนมนุษย์  (when animals are described as human) นั่นเอง   วิธีนี้ถูกนำเสนอผ่านการใช้ภาษา สัญญะหรือสัญลักษณ์ ในรูปของการเปรียบเทียบหรือการอุปลักษณ์  ดังตัวอย่าง เช่น

A Lion once fell in love with a beautiful maiden and proposed marriage to her parents. The old people did not know what to say. They did not like to give their daughter to the Lion, yet they did not wish to enrage the King of Beasts.
            (“The Lion in Love” from Aesop’s Fables)

            นักวิจารณ์เชิงนิเวศเห็นว่า  การอุปลักษณ์ ที่ยึดเอาตัวมนุษย์เป็นศูนย์กลาง นำมาซึ่งคำถามทางจริยธรรมต่อการนำเสนอภาพแทนของสิ่งมีชีวิตที่มิใช่มนุษย์  กรณีของการทำสัตว์ให้เป็นมนุษย์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเส้นเขตแดนที่พร่าเลือนระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ จะกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการตั้งคำถามต่อแนวคิดแบบหลงผิดของมนุษย์ว่าตนเองเหนือกว่า คลาร์กได้ยกตัวอย่างการทำให้เป็นมนุษย์ในนวนิยายเรื่อง Call of The Wild  ของ แจ็ค ลอนดอน   โดยหยิบยกเรื่องของสุนัขสายเลือดผสมระหว่างหมาป่ากับหมาบ้านชื่อ  "บัคส์" อันเป็นตัวละครเอกของเรื่อง  ซึ่งแจ็ค ลอนดอน พยายามสร้างให้มีคุณลักษณะของวีรบุรุษ ในเหตุการณ์ตอนที่เจ้าบัคส์ ไปเป็นสุนัขลากเลื่อนใหม่ ๆ  โดยที่มันยังไม่คุ้นเคยกับหิมะ บัคส์สับสนและงุนงงว่า เมื่อถึงเวลานอนหลับ ทำไมสุนัขลากเลื่อนตัวอื่น ๆ  จึงได้พากันหายตัวไปหมด ซึ่งในความเป็นจริงพวกมันพากันเข้าไปนอนในหลุมใต้กองหิมะที่ขุดเอาไว้ แจ็ค ลอนดอน บรรยายให้เห็นว่า กิริยาอาการของเจ้าบัคส์ก็ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์    เพราะมันไม่สามารถดมกลิ่นสุนัขตัวอื่น ๆ   มันทำได้เพียงเดินสอดส่ายสายตาค้นหา  เดินวนไปมาหลายรอบแต่ก็ไม่พบ และนึกสงสัยว่าสุนัขตัวอื่นหายไปได้อย่างไร

He walked around the tents trying to find the other dogs. But, to his surprise, they had disappeared. He walked around Perrault's tent, very, very cold, wondering what to do. Suddenly, the snow under his feet fell in, and he felt something move. He jumped back, waiting for the attack, but heard only a friendly bark. There, in a warm hole under the snow, was Billee.
(Jack London,1998 : 19)

             จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า การทำให้เป็นมนุษย์มักจะเกิดความผิดพลาดและก่อให้เกิดคำถามว่าวิธีการนำเสนอภาพแทนของสัตว์เช่นนี้มีความยุติธรรมหรือไม่ เพราะมนุษย์มักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง  (Clak,2011: 193) ในขณะที่  อดัมส์ (Adams.1991 : 42)  เห็นว่าในการนำเสนอเช่นนี้ ไม่ว่าสัตว์จริงหรือสัตว์ตามตัวอักษร จะถูกอำพรางด้วยความหมายสัญญะ (signifier)  ซึ่งทำให้สัตว์กลายเป็นการอ้างอิงที่สาบสูญ (an absent referent)  ซึ่งชะตากรรมของพวกมันถูกแปรเป็นการอุปมาสำหรับการดำรงอยู่หรือโชคชะตาของคนอื่น  ทำให้ความหมายเดิมถูกดูดซึมเข้าไปในการจัดลำดับชั้นของระบบคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง   สอดคล้องกับที่  พริตชาร์ด (Pritchard.2004 : 9)  เห็นว่า ภาษาที่ใช้ในวรรณกรรม ในสื่อและบทสนทนา สะท้อนให้เห็นอคติจากระบบคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเห็นได้จากการใช้คำศัพท์ ไวยากรณ์ คำเปรียบเทียบ ภาพ รหัส สัญลักษณ์และอุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่ ดังนั้น สัตวศึกษาในมุมมองของการวิจารณ์เชิงนิเวศจึงไม่เห็นด้วยกับการทำให้เป็นมนุษย์  โดยการพยายามตีความการอุปลักษณ์สัตว์ในลักษณะนี้ว่าก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร และนำไปสู่ความอยุติธรรมต่อสัตว์อย่างไร 
            การนำเสนอภาพแทนของสัตว์ในเชิงอุปลักษณ์ ในทางหนึ่งจะถูกมองว่าเป็นการประกอบสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ของสัตว์ขึ้นมาโดยปริยาย  มนุษย์มักจะใช้ความรู้เกี่ยวกับโลกธรรมชาติประกอบสร้างความหมายของสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคม (Howard and Rensel 1991: , Rodriguez 2009: 80)   สัตว์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบสร้างความหมายดังกล่าว ที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางวาทกรรมที่มีความยืดหยุ่นสำหรับการประกอบสร้างเชิงเปรียบเทียบ  การประกอบสร้างนี้ไม่เพียงแต่ถูกกำหนดมาจากคุณลักษณะทางชีววิทยาเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์อีกด้วย (Noske, 1989; Ritvo, 1991). ในการอภิปรายเกี่ยวกับการประกอบสร้างความเป็นสัตว์  แอนเดอร์สัน (Anderson. 2000)  เห็นว่า ความเป็นสัตว์เป็นสิ่งที่ได้รับการอ้างอิงที่สำคัญ  ในการสร้างความแตกต่างของพื้นที่ทางสังคมและการลำดับชั้นในวัฒนธรรมตะวันตก  ความหมายของความเป็นสัตว์ได้หมุนเวียนข้ามพรมแดนของธรรมชาติเข้าสู่ความหมายทางการเมืองของความสัมพันธ์ทางสังคม และถูกนำไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องเชื้อชาติ เพศ และอัตลักษณ์ต่าง ๆ
            มีงานวิจัยและบทความบางชิ้น  ของนักวิจารณ์ในต่างประเทศที่ผู้เขียนจะยกมาเป็นตัวอย่างของ สัตวศึกษาในแนวนี้  ดังเช่น ในบทความเรื่อง The Divine Interpretation: A Study of Metaphor in Dante's Inferno โดย เมลานี บาร์คเกอร์ (Melanie Barker)  ได้ศึกษาตีความการใช้อุปลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์ในวรรณคดีเรื่อง Divine Comedy ตอน Inferno ของ ดันเต้ (Dante) กวีชาวอิตาเลียน  และชี้ให้เห็นว่า ดันเต้ ซึ่งเป็นกวีชาวคริสเตียน ได้ใช้สัตว์หลายชนิดเพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายเชิงลบ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของศาสนาคริสต์แนวจารีต  สัตว์ที่ ดันเต้ใช้มีหลายชนิดเช่น สิงโต เสือดาว และหมาป่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความผิดบาป ที่แบ่งออกได้เป็นสามประเภท คือบาปของความอาฆาตพยาบาทและการฉ้อโกง  บาปของความรุนแรงและความทะเยอทะยาน  และความผิดบาปที่เกิดจากความมักมากในกามคุณตามลำดับ  ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามและขัดแย้งกับแนวคิดและขนบนิยมในช่วงก่อนศาสนาคริสต์ที่มักจะใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ในทางบวก เช่นหมายถึงพลังอำนาจ หรือคุณลักษณะภายในธรรมชาติของมนุษย์  ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านั้นมุ่งเน้นในเรื่อง ความมีเกียรติ" และคุณลักษณะของสัตว์ที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของมนุษย์   ตัวอย่างเช่น ดันเต้ ใช้เสือดาวเป็นสัญลักษณ์ของความผิดบาปที่เกิดจากการโกหกหลอกลวง เพราะเสือดาวมีหนังเป็นลายด่าง เสมือนการอำพรางและการปลอมตัวในการล่าเหยื่อ  และฉวยโอกาสในขณะที่เหยื่อเผลอเข้าโจมตี   ดังที่เขาเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
"Beyond the point the slope begins to rise / sprang up a leopard, trim and very swift! It was covered by a pelt of many spots. / And everywhere I looked, the beast was there" (Inferno I 32-35.cited in Barker, online)

ส่วนสิงโตนั้น ดันเต้ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงความผิดบาปของความรุนแรงและความทะเยอทะยาน  เพราะสิงโตจะถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ก้าวร้าวและการแสดงออกที่มีแนวโน้มที่ใช้ความรุนแรงเพื่อตอบสนองความต้องการของตน  ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของสัตว์ประเภทนี้  ที่ไม่กลัวสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และยืนยันตำแหน่งของตนเองในห่วงโซ่ของอาหาร  ประเภทสุดท้ายคือความผิดบาปจากความมักมากในกามคุณ ดันเต้ใช้หมาป่าเพศเมียเป็นสัญลักษณ์ เพราะหมาป่าเป็นสัตว์ที่ลึกลับและมักออกล่าเหยื่อเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะกับตัวผู้ ดันเต้เชื่อมโยงความลึกลับและความตื่นเต้นของความสัมพันธ์ฉันชู้สาวของบุคคลกับความ "ลึกลับ" ของหมาป่า  ดังความที่ว่า And now a she-wolf came, that in her leanness / seemed racked with every kind of greediness / (how many people she has brought to grief!" (Inferno I 49-5cited in Barker, online)
บาร์คเกอร์ (Barker, online) เห็นว่า เหตุที่เขาเลือกหมาป่าเพศเมียแทนที่จะเลือกหมาป่าเพศผู้  เพราะในสังคมและวัฒนธรรมโบราณ การที่ผู้หญิงทรยศและหักหลังทางเพศถือว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าละอายมาก   แม้งานชิ้นนี้จะไม่ได้ตีความการอุปลักษณ์ในแง่ของ "การทำให้เป็นคน" แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า การอุปลักษณ์สัตว์กับพฤติกรรมด้านลบของมนุษย์ย้ำให้เห็นแนวคิดที่ยึดถือมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั่นเอง
            ในงานวิจัยเรื่อง  With or Without the “Divine Spark”: Animalised Humans and the Human- Animal Divide in Charles Dickens’s Novels  ของ แฮคเกิลบาค (Graah-Hagelback) ได้ศึกษาจินตภาพเกี่ยวกับตัวละครมนุษย์เปรียบเทียบกับสัตว์ผ่านการใช้ภาษาเชิงเปรียบเทียบ คือ อุปลักษณ์ (methaphor)  นามนัย (metonomy) และอุปมา (simile) ในนวนิยายของ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens, 1812-1870) พบว่า ดิกเกนส์มักใช้โวหารทำให้คนให้มีลักษณะเหมือนสัตว์  ด้วยการใช้โวหารแบบนามนัย  ซึ่งทำให้ตัวละครมนุษย์มีภาพของสัตว์ด้วยการเชื่อมโยง ในงานชิ้นนี้ แฮคเกิลบาค (Hagelback .2013)  ได้ข้อสรุปว่า  สัตว์ที่ถูกนำเสนอในหลากหลายรูปแบบในนวนิยายของ ชาลส์ ดิกเกนส์ ประกอบด้วยสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงซึ่งมีบทบาทในการรับใช้มนุษย์ และถูกนำเสนอผ่านภาพและสัญลักษณ์ 
            บทความเรื่อง  The “Rhetoric of Animality”, Animal Imagery,and Dr. Kamuzu Banda’s Dictatorship in the Poetry of Jack Mapanje โดย มแธติวา (Mthatiwa, 2012) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาสัตว์ในเชิงเปรียบเทียบ ในงานชิ้นนี้ มแธติวาได้ศึกษาสัตวโวหาร หรือความเปรียบเกี่ยวกับสัตว์ที่โยงใยถึงอำนาจเผด็จการในกวีนิพนธ์ของ แจ็ค มาพันเจ (Jack Mapanje) กวีชาวมาลาวี  โดยใช้ความเปรียบเกี่ยวกับสัตว์เพื่อสะท้อนภาพทางสังคมและการเมืองในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาลเผด็จการของ ดร. แฮสติงกามูซู บานดา (Hastings Kamuzu Banda ) ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศมาลาวีในระหว่าง ค.. 1964-1994 เพื่อเสียดสีและถากถางบุคลิกและพฤติกรรมของนักการเมืองได้อย่างน่าสนใจ  พันเจมักใช้อุปลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์เมื่อกล่าวถึงผู้นำเผด็จการ เช่นคำว่า สัตว์ร้าย (a Beast) “สัตว์เดรัจฉาน (brute) ดังในบทกวีที่ชื่อว่า “The Chattering Wagtails of Mikuyu Prison” หรือในบทกวีชื่อThe Release and Other Curious Sights” มาพันเจอุปลักษณ์ ดร.กามูซู บานดาว่าคือ สิงโต (lion) บทกวีชิ้นนี้ กล่าวถึงประสบการณ์ของมาพันเจในวันที่ได้รับการปล่อยตัวจากคุก มีประชาชนออกมาต้อนรับและร้องตะโกนประณามการจับกุม จนทำให้ตำรวจพากันประหลาดใจว่าเขาคือใครกันแน่ และถูกจับกุมด้วยสาเหตุใด คำตอบของเขาที่ให้กับนายตำรวจคนนั้น ต่อมาได้ปรากฏในบทกวีตอนหนึ่งซึ่งเขาใช้สัตว์สามชนิดในการอุปลักษณ์ คือ สิงโต แรด และเสือดาว

When the lion wrung the gazelle
Under his smoking armpits, when
The foaming rhinoceros pierced his
Sharp horn or the leopard pounced;
(Mapanje . 1993: 71 cited in Mthatiwa, 2012)

ในบทกวีนี้ มาพันเจใช้คำว่า "สิงโต" เพื่อสื่อความหมายถึงผู้นำเผด็จการ และใช้แรดกับเสือดาวอุปลักษณ์ถึงเหล่าลูกสมุนของเขา ซึ่งสื่อความหมายถึงการใช้ความรุนแรงและการกดขี่บังคับ
            2.การศึกษาจริยธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์
         สัตวศึกษาในลักษณะนี้ กล่าวได้ว่า เป็นแนวทางสำคัญของการวิจารณ์เชิงนิเวศ  เป็นการตรวจสอบถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์  ทั้งในแง่ของความเสมอภาคระหว่างมนุษย์กับสัตว์  การปฏิบัติของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นของคุณธรรม จริยธรรมและสวัสดิภาพของสัตว์  เป็นอีกมิติหนึ่งของการนำเสนอสัตว์ที่มีนัยของความเมตตาสงสารเข้ามาเกี่ยวข้อง  นักวิจารณ์เชิงนิเวศมองว่า  การศึกษาในแบบเปรียบเทียบและใช้สัตว์อุปลักษณ์นั้น โดยแท้จริงแล้ว เป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนระบบคิดที่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentric) การคิดใหม่เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องสัตว์ในวรรณกรรมก่อให้เกิดแนวทางใหม่ของการวิเคราะห์เกี่ยวกับสัตว์ โดยยึดเอาสัตว์เป็นศูนย์กลางในการศึกษา (animal-centric  หรือ animal -standpoint criticism)   คือการวิจารณ์ที่พยายามตรวจสอบการทำงานของวรรณกรรมที่มองว่าสัตว์ได้รับการปฏิบัติอย่างไร โดยการรื้อสร้างมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับสัตว์ เช่น การตั้งคำถามต่อการปราศจากตัวตน (absence) หรือจุดที่ถูกมองข้าม  ความผิดพลาดและช่องว่างในตัวบทที่เกี่ยวกับสัตว์ (Nodovan, 2009) นักวิจารณ์ที่ถือว่าเป็นหัวหอกในการศึกษาแนวนี้บางคน อาทิ เดวิด เปอร์กินส์ ​(David Perkins)  ที่ศึกษาเรื่อง Romanticism and Animal Rights.  ได้ตั้งข้อสังเกตตอนหนึ่งว่า  ที่ผ่านมา แม้จะมีนวนิยายหลายเรื่องที่เขียนบันทึกความทรงจำหรือการเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งการเดินทางที่ใช้รถม้า แต่นวนิยายเหล่านี้ก็แทบจะไม่พูดถึงความทุกข์ทรมานของม้าลากรถเลย เปอร์กินส์ตั้งข้อสังเกตว่า ความทุกข์ทรมานของม้าไม่อยู่ในสายตาของผู้โดยสาร   หรืออาจเป็นเพราะพวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็นสำหรับนวนิยายประเภทนี้  (Perkins, 2003 : 10)
            ในทัศนะของนักวิจารณ์เชิงนิเวศ มองว่ามนุษย์ปฏิบัติต่อสัตว์อย่างปราศจากจริยธรรม  ดังที่ เจมส์ ราเชลส์ (James Rachels.1992  cited in Clark, 2011 : 179)  กล่าวว่า  มนุษย์ฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ใช้เป็นสัตว์ทดลองในห้องทดลอง  เอารัดเอาเปรียบพวกมันในฐานะเป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เช่น หนังสัตว์และขนแกะ  มนุษย์ใช้สัตว์ทำงาน  การปฏิบัติเหล่านี้ก็เพื่อประโยชน์ของตนเอง และมนุษย์ก็ยังคงดำเนินการกับพวกสัตว์ต่อไป ดังนั้น เมื่อเราคิดว่าสัตว์คืออะไร ก็เหมือนกับเรามีแรงจูงใจที่จะเข้าใจพวกเขาในแนวทางที่เข้ากันได้กับการปฏิบัติต่อพวกมันด้วยวิธีการเหล่านี้  หากเราคิดว่าสัตว์เหล่านี้มีสติปัญญา มีความรู้สึก  วิธีที่เราปฏิบัติต่อพวกสัตว์ก็ดูเหมือนสิ่งชั่วร้าย ดังนั้น มนุษย์จึงควรจะคิดเสียใหม่ว่าพวกสัตว์มีสติปัญญาหรือมีความรู้สึก
            จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ ราเชลส์ตั้งคำถามเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับจริยธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ เป็นเรื่องที่มักจะเกี่ยวข้องกับการมองสัตว์ในฐานะบุคคล  เขาเห็นว่านี่คือสิ่งที่จะนำไปสู่ความท้าทายของแนวคิดการทำให้เป็นมนุษย์ว่า จะนำเสนอชีวิตของสัตว์ในภาษาและวัฒนธรรมของมนุษย์อย่างไร โดยปราศจากภาพลวงตา หรือความอยุติธรรม (Rachels.1992  cite in Clark, 2011 :179)
            ประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับสัตว์ มักจะเริ่มต้นด้วยความสนใจในเรื่องการกดขี่ (oppression) และการกระทำทารุณกรรมเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่มนุษย์วางตนอยู่เหนือสัตว์ในทุกเงื่อนไข  นักวิจารณ์เชิงนิเวศเห็นว่าความคิดที่ว่ามนุษย์กับสัตว์มีความแตกต่างนำไปสู่การอภิปรายที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่ปัญหาอยู่เสมอ   และตัวบทวรรณกรรมก็มักจะวาดภาพให้เห็นอำนาจของมนุษย์ที่เหนือกว่าสัตว์  สัตว์อาจเป็นปีศาจชั่วร้าย หรือความดีงามก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มันเกี่ยวข้องด้วย

            3.การนำเสนอตัวตนและอัตลักษณ์ของสัตว์
            การนำเสนอสัตว์ในลักษณะนี้ เน้นไปที่การประกอบสร้างความเป็นสัตว์และอัตลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์ที่ผู้แต่งนำเสนอให้เห็นในผลงานของเขา  ซึ่งนักวิจารณ์เชิงนิเวศเห็นว่า การประกอบสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ของสัตว์ สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งมักดำเนินไปบนพื้นฐานของมโนทัศน์ในการแบ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นความคิดกระแสหลักของนักปรัชญาด้านสิ่งแวดล้อมชาวยุโรป ที่มักประกอบสร้างความหมายให้กับสัตว์อย่างหลากหลาย
            วิธีการสำคัญในการประกอบสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ของสัตว์คือ การประกอบสร้างผ่านภาษา ในงานวิจัยที่น่าสนใจของ พริตชาร์ด (Gregory R. Pritchard) เรื่อง Econstruction: The Nature/Culture Opposition in Texts about Whales and Whaling, 2004 ได้อภิปรายให้เห็นถึงบทบาทของภาษามนุษย์ในการประกอบสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ให้กับสัตว์  แนวคิดพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ในการสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ของสัตว์ คือการแบ่งประเภทของสัตว์ให้เป็น "สัตว์ป่า" และ "สัตว์เมือง" หรือ "สัตว์เลี้ยง" ซึ่งมนุษย์มีทัศนคติต่อสัตว์ทั้งสองประเภทแตกต่างกัน  สัตว์เลี้ยงจะถูกให้ความหมายว่าเป็นมิตรกับมนุษย์ ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากมนุษย์ มีความเชื่องและสามารถควบคุมได้  ในขณะที่สัตว์ป่าถูกนิยามว่าคือความป่าเถื่อน โหดร้าย สันดานดิบ เป็นสัตว์นักล่าและสามารถฆ่ามนุษย์ได้   ดังนั้นมนุษย์จึงมักจะหาทางกำจัดสัตว์ป่าเหล่านั้น 
  การให้ความหมายของสัตว์ที่แตกต่างกันนี้  นำมาสู่การปฏิบัติต่อสัตว์ในหลายมาตรฐาน และมันแสดงออกให้เห็นในการนำเสนอผ่านภาษา ดังที่ ยอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) กล่าวไว้ว่า  "When a man wants to murder a tiger, he calls it sport, when a tiger wants to murder him he calls it ferocity." ( Pritchard,2004 : 165)  ("เมื่อมนุษย์ต้องการฆ่าเสือ พวกเขาเรียกมันว่าเป็นเกมกีฬา  แต่เมื่อเสือต้องการฆ่าคน พวกเขาเรียกมันว่าความดุร้าย") การกระทำเช่นนี้ เป็นการแบ่งแยกมนุษย์กับสัตว์ออกจากกันโดยสิ้นเชิง  พริตชาร์ด (Pritchard, 2004 : 166)  เห็นว่าการแบ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์อื่น ๆ  ดำเนินไปบนเกณฑ์ 3 อย่างคือ  ความมีเหตุผล  ภาษาพูด  และการตอบสนองทางศีลธรรม  เขายังอภิปรายให้เห็นต่อไปอีกว่า วิธีหนึ่งที่สัตว์ถูกทำให้อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่ามนุษย์ก็คือ การนำเสนออย่างแพร่หลายผ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับการล่าสัตว์ (hunting narratives) ทั้งที่เป็นตำนานและเรื่องจริง อันแสดงให้เห็นการกระทำของมนุษย์ในฐานะนักล่า และสัตว์ในฐานะเหยื่อที่ถูกล่า  อาจกล่าวได้ว่า การแบ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ ได้ทำให้สัตว์มี "ความเป็นอื่น" จากมนุษย์ สะท้อนให้เห็นวิธีคิดว่า มนุษย์มองธรรมชาติว่ามีความเป็นอื่น
            การศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประกอบสร้างตัวตนของสัตว์ จะเห็นได้จากงานวิจัยเรื่อง Decentring the Wizard: An Analysis of the Constructed Discourses of Animality in the Harry Potter Series โดย  โฮแกนน์ (Haugann.2015)  ที่มุ่งศึกษาการประกอบสร้างวาทกรรมความเป็นสัตว์ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านเชื้อชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านนวนิยายชุดแฮรี่ พอตเตอร์จำนวนสามตอน คือ Harry Potter and the Prisoner of Azkaban, Harry Potter and the Order of the Phoenix, และ, Harry Potter and the Deathly Hallow ) งานวิจัยชิ้นนี้ได้เชื่อมโยงให้เห็นการนำเสนอการประกอบสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับสัตว์ที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ตายตัวของสัตว์ให้คงอยู่  มากกว่าจะต่อต้าน อาทิในประเด็นเกี่ยวกับแบบแผนและอคติเกี่ยวกับรักร่วมเพศ ชนกลุ่มน้อย ผู้หญิงและสัตว์จริง   ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าปัญหาเหล่านี้น่าเป็นห่วง เพราะถูกนำเสนอผ่านนวนิยายยอดนิยมอย่างแฮรี่ พอตเตอร์
            ไมเคิล ลันแบรด (Michael Lundblad. 2013)  มองว่าการประกอบสร้างตัวตนของสัตว์ หรือการทำให้เป็นสัตว์ในฐานะความเป็นอื่นนั้น นักวิชาการมักจะมีการหยิบยืมแนวคิดของชาร์ลส์ ดาวิน ซึ่งมักจะประกอบสร้างความเป็นสัตว์ผ่านวาทกรรมของ "ความเป็นป่า" ผนวกกับแนวคิดเรื่องสัญชาตญาณตามทฤษฎีของฟรอยด์มาเป็นฐานในการคิด  ผลของการถกเถียงนี้ทำให้เกิดการผลิตสร้างความเป็นสัตว์ว่า คือความรุนแรงโดยธรรมชาติ ในนามของความอยู่รอด และการดำรงพันธุ์  ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินและทฤษฎีสัญชาตญาณของฟรอยด์แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงและความดุร้าย ป่าเถื่อนในกระบวนการวิวัฒนาการคือเรื่องของธรรมชาติสำหรับเรา เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ
              อาจกล่าวได้ว่า การสร้างความเป็นสัตว์ในหมู่นักวิชาการชาวตะวันตก มักจะให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นสัตว์ป่า ความโหดร้ายตามสัญชาตญาณที่มีการส่งต่อทางสายพันธุ์  โดยนัยนี้จึงแสดงให้เห็นว่า สัตว์มีความแตกต่างจากมนุษย์ หรือมี "ความเป็นอื่น" สำหรับมนุษย์    วิธีคิดเช่นนี้ก็ทำให้มนุษย์มีความเหนือกว่าสัตว์ไปโดยปริยายเช่นเดียวกัน
สำหรับในแวดวงวรรณคดีไทย การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ ไม่ใช่ประเด็นใหม่แต่อย่างใด  แต่มีผู้ให้ความสนใจศึกษามาก่อนหน้านี้เป็นระยะ เพียงแต่ไม่จัดว่าเป็นสัตวศึกษาในแนวทางของการวิจารณ์เชิงนิเวศเท่านั้น ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่อง  ช้างในวรรณคดีสันสกฤตและวรรณคดีบาลี  ของละเอียด วิสุทธิแพทย์ (2522)   ผู้วิจัยศึกษาความเป็นมาและบทบาทหน้าที่ของช้างในวรรณคดีสันสกฤตและวรรณคดีบาลี ว่ามาจากคติความเชื่อทางศาสนากล่าวคือ ช้างในวรรคดีสันสกฤตเป็นช้างพาหนะของเทพเจ้า จึงมีบทบาทเพื่อช่วยเหลือรักษา ค้ำจุนโลก ช้างไอราวัณมีส่วนช่วยทำให้ฝนตก ทำให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีความสุข และชาวอินเดียมีความเชื่อถือว่าพระคเณศเทพเจ้าผู้มีพระเศียรเป็นช้างช่วยคุ้มครองผู้เดินทาง และช่วยให้ผู้นับถือบูชาประสบความสำเร็จในกิจการทั้งปวง  ส่วนแนวความคิดและบทบาทของช้างในวรรคดีบาลี  เป็นไปตามหลักคำสอน ในพุทธศาสนา คือไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ และเป็นไปตามความเชื่อเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมว่า ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว งานวิจัยเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ช้างในวรรณคดีสันสกฤตและวรรณคดีบาลีเข้ามามีบทบาทในวรรณคดี สังคม และวัฒนธรรมไทยเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศิลปกรรมไทย  ทำนองเดียวกับงานวิจัยเรื่องช้าง ของ สมเพลิน ชนะพจน์ (2549)  เรื่อง "การศึกษาเรื่องช้างในวรรณคดีพระพุทธศาสนา" ที่ศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับ ความหมายของช้าง ประเภท ลักษณะและประวัติของช้าง  ความเกี่ยวข้องของช้างกับพระพุทธศาสนา และ  อิทธิพลของช้างในวรรณคดีพระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย
            งานวิจัยในลักษณะนี้ ยังเห็นได้จาก งานของ โสภณ ชูช่วย เรื่อง "บทบาทพิเศษของม้าในวรรณคดีไทย" ก็เป็นงานศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ที่ไม่มีลักษณะของสัตวศึกษาโดยตรง เพราะมุ่งสนใจบทบาทพิเศษของม้าใน วรรณคดีไทย โดยศึกษาถึง ประวัติ ความเป็นมา รูปร่างลักษณะ และอิทธิพลต่อวรรณกรรมและวิถีชีวิตในสังคมไทยควบคู่ไปด้วย  ม้าในวรรณคดีที่นำมาศึกษาค้นคว้าในงานวิจัยนี้ เป็นม้าที่ปรากฎชื่อและมีบทบาทพิเศษในวรรณคดีไทย ได้แก่ ม้าสีหมอก จากเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ม้านิลมังกร จากเรื่องพระอภัยมณี ม้าเซ็กเธาว์ จากเรื่องสามก๊ก ม้ามณีกาก จากเรื่องสุธนูคำฉันท์ ม้ากัณฐกะ จากเรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ม้านิลพาหุและม้าอนันตสิงหาสน์ จาก รามเกียรติ์ ผลการศึกษาพบว่าม้าในวรรณคดีไทยมี 2 จำพวก คือม้าที่สร้างขึ้นจากจินตนาการ และม้าที่มีลักษณะสมจริง ม้าเหล่านี้มีบทบาทพิเศษคือ สามารถแสดงพฤติกรรมนอกเหนือจากหน้าที่ของม้าทั่ว ๆ ไป ได้แก่ เป็นม้าที่อยู่ในอำนาจของเวทมนต์คาถา ทำให้สามารถแสดง บทบาทพิเศษได้ ช่วยเจ้าของสู้รบกับศัตรูได้ แสนรู้ หยั่งรู้เหตุการณ์ด้วยญาณพิเศษได้ มีความรัก ความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีต่อเจ้าของ มีฤทธิ์และความสามารถพิเศษ คือ เหาะ ดำดิน วิ่งเร็ว และวิ่งบนบกบนน้ำได้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่าม้าในวรรณคดีไทยมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมและวิถีชีวิตในสังคมไทยอีกด้วย
            งานวิจัยเรื่อง "โลกทัศน์ของคนไทยจากภาษิต" โดย วรารัชต์ มหามนตรี  (2557) ซึ่งเป็นการศึกษาโลกทัศน์ด้านต่างๆ ของคนไทยโดยพิจารณาจากภาษิต ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่กล่าวถึงโลกทัศน์ที่มีต่อสัตว์ งานชิ้นนี้ได้พิจารณาว่าคนไทยคิดต่อสัตว์แต่ละชนิดตามที่ปรากฏในภาษิตและคำพังเพยอย่างไรบ้าง  แต่ไม่ได้เชื่อมโยงระบบคิดที่มีต่อสัตว์อันสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแต่อย่างใด
            งานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ  "สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมเขมร" โดย ชาญชัย  คงเพียรธรรม (2559) ได้เลือกศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ในความเชื่อของสังคมเขมร คือ นาคกับโค   ผู้วิจัยสืบสาวที่มาของความเชื่อว่า ความเชื่อเรื่องนาคในสังคมเขมรนั้นเป็นความเชื่อดั้งเดิม คนเขมรเชื่อว่านาคเป็นบรรพบุรุษของตนดังปรากฏในตำนานเรื่อง "พระทองนางนาค" คติเดิม "นาค" ในความเข้าใจของคนเขมรน่าจะหมายถึง งูใหญ่ ต่อมาเมื่อศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเผยแผ่เข้ามา ความเชื่อเรื่องงูใหญ่จึงผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนากลายเป็นนาคตามแบบพราหมณ์และพุทธในที่สุด ขณะที่ความเชื่อเรื่องที่ว่า โคเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นความเชื่อที่คนเขมรรับมาจากศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ที่นับถือโคนันทิในฐานะเทพพาหนะของพระอิศวร คติความเชื่อดังกล่าวไม่ใช่คติความเชื่อดั้งเดิมแต่อย่างใด  งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่านาคและโคถูกนำมาใช้ในเชิงสัญลักษณ์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง เช่น การใช้นาคเพื่อแสดงความเป็นผู้มีบุญ การใช้โคเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการสร้างบ้านแปงเมือง รวมทั้งปลุกกระแสชาตินิยมของคนเขมรขึ้น
สัตวศึกษาในวรรณกรรมไทยร่วมสมัย : บททดลองนำเสนอ
            จากงานวิจัยที่กล่าวถึงข้างต้น จะเห็นได้ว่าการศึกษาส่วนใหญ่ ยังเป็นเพียงการศึกษาในแง่มุมทางด้านวัฒนธรรมเสียมากกว่า แต่ยังไม่มีงานวิจัยเรื่องใดที่พอจะพิจารณาได้ว่าเป็นแนวทางการศึกษาแบบสัตวศึกษาในมุมมองของการวิจารณ์เชิงนิเวศ   เพื่อเป็นการนำร่องและเปิดแนวทางการศึกษาแบบสัตวศึกษาในแนวการวิจารณ์เชิงนิเวศตามแนวทางการศึกษาที่ได้สังเคราะห์จากงานวิจัยข้างต้น คือ การนำเสนอภาพแทนของสัตว์ การศึกษาจริยธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ และการนำเสนอตัวตนและอัตลักษณ์ของสัตว์
ในบทความนี้ผู้เขียนได้ทดลองศึกษา โดยเลือกวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย ที่มีการนำเสนอเรื่องราวของสัตว์ในแง่มุมต่างๆ มาพิจารณา คือ  (1) เรื่องสั้น มอมของคึกฤทธิ์ ปราโมช (2) เรื่องสั้นขนาดยาว "พลายมลิวัลล์" ของถนอม  มหาเปารยะ (3) เรื่องสั้น "ซาเก๊าะ" ของมนัส จรรยงค์ (4) เรื่องสั้น"คนกับเสือ" ของเสกสรรค์  ประเสริฐกุล และ(5) นวนิยายเรื่อง "ทางเสือ" ของศิลา โคมฉาย  วรรณกรรมทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ล้วนแล้วแต่มีตัวละครสำคัญเป็นสัตว์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่า
           

            1.จาก มอมถึง พลายมลิวัลลิ์ : การอุปลักษณ์แบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
            การศึกษาในแนวทางนี้เป็นวิธีการนำเสนอภาพแทนของสัตว์ในลักษณะหนึ่ง ที่มุ่งศึกษาความเปรียบ การใช้อุปมาและอุปลักษณ์กับสัตว์ที่นำเสนอในวรรณกรรมประเภทต่าง ๆ  จะเห็นได้ว่าเป็นการนำเสนอผ่านวิธีการของภาษา โดยการทำให้สัตว์มีคุณลักษณะเหมือนมนุษย์ หรือในทางกลับกันอาจทำให้มนุษย์มีลักษณะเหมือนกับสัตว์  ปรากฏในวรรณกรรมไทยร่วมสมัยหลายเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น “มอม (2495) ของ ม...คึกฤทธิ์ ปราโมช  เรื่องสั้นขนาดยาว "พลายมลิวัลลิ์" [5] ของ ถนอม มหาเปารยะ เรื่องสั้น "ทางเสือ"  (2532) ของศิลา โคมฉาย และเรื่องสั้น "คนกับเสือ"  (2539) ของเสกสรรค์  ประเสริฐกุล  วรรณกรรมที่กล่าวถึงนี้จะนำเสนอเรื่องราวของสัตว์ให้เป็นตัวละครสำคัญ คือสุนัข  ช้าง และเสือ เรื่อง มอมและ พลายมลิวัลลิ์ นำเสนอเรื่องราวความรัก ความผูกพันระหว่างคนกับสัตว์เป็นแก่นเรื่องสำคัญ การนำเสนอภาพของสัตว์ในงานเขียนทั้งสองเรื่องนี้มีลักษณะร่วมสำคัญประการหนึ่ง คือ การนำเสนอในเชิงอุปลักษณ์ที่มีลักษณะของการทำสัตว์ให้กลายเป็นมนุษย์ (anthropomorphism) ซึ่งสะท้อนให้เห็นความคิดที่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางนั่นเอง
            ในเรื่องสั้น "มอม" ที่เล่าเรื่องความจงรักภักดีของสุนัขที่ชื่อ มอม กับเจ้านายของมัน  เรื่องสั้นเรื่องนี้ สร้างอารมณ์สะเทือนใจให้กับผู้อ่านด้วยการนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างลูกสุนัขพันธุ์ทางกับเจ้านายของมัน ที่มีชีวิตผันผวนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง  จนนำไปสู่จุดจบและชะตากรรมที่ไม่ต่างกันระหว่างคนและสุนัข  ความตรึงใจของเรื่องสั้นเรื่องนี้  ไม่เพียงเกิดจากโครงเรื่องที่แสดงให้เห็นชะตากรรมของมนุษย์อันเนื่องมาจากสงครามเท่านั้น  แต่อยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องที่เล่าผ่านมุมมองของสุนัขอย่างมอม  โดยวิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้  เสียงของมอมถูกทำให้กลายเป็นเสียงเล่าของคนไปโดยสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นการมองและรับรู้สรรพสิ่งรอบตัว 
พอมอมมันเริ่มเดินได้ มันก็คลานออกจากใต้ถุนออกสู่ลานหน้าบ้าน โลกของมันกว้างขึ้นอีกเล็กน้อย มันรู้ว่าอยู่บ้านสองชั้นเล็ก ๆ ค่อนข้างจะเก่าและไม่ได้ทาสี นอกจากนายแล้วยังมีคนอื่นอยู่ด้วยอีกสองคน คนหนึ่งนั้นเป็นผู้หญิง นายบอกมันว่าคนนี้คือนายผู้หญิง อีกคนเป็นเล็ก ๆ เพิ่งสอนเดิน นายเรียกว่าหนู แต่มอมมันพอจะเดาออกว่าเป็นลูกของนาย เพราะกลิ่นตัวเหมือนกัน
(...คึกฤทธิ์ ปราโมช,2544 : 81)
            การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครสัตว์อย่างมอม ยังสามารถบอกลึกลงไปถึงความรู้สึก นึกคิดและสภาพจิตใจของมอมอีกด้วย ดังตัวอย่างตอนหนึ่งว่า มอมมันเป็นหมาที่มีแต่หัวใจ และหัวใจมันนั้นก็มอบให้นาย ฉะนั้นมิใยนายจะสั่งสอนให้ทำอะไร มอมก็ไม่ค่อยเอาใจใส่ เพราะเมื่อมันอยู่กับนาย มันมีแต่ความดีใจ ความสุข ไม่มีปัญญาจะไปจดจำอะไรได้กี่มากน้อย”  (...คึกฤทธิ์ ปราโมช,2544 : 84)   จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนได้กำหนดให้มอมซึ่งเป็นสุนัข มีความคิด การมองโลก และการรับรู้ความหมายของสิ่งต่าง ๆ  ในสายตาเดียวกันกับการรับรู้ของคน  ไม่เพียงแต่เท่านั้น ม...คึกฤทธิ์ ยังแสดงให้เห็นว่า มอมมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังสามารถสรุปบทเรียนบางอย่างได้จากสถานการณ์เฉพาะหน้า แม้แต่การมีลางสังหรณ์บางอย่าง ที่ไม่ต่างจากมนุษย์ ในตอนที่กำลังจะมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดจนนายหญิงและลูกสาวต้องเสียชีวิตในบ้านที่ถูกไฟไหม้ คืนวันหนึ่ง มอมรู้สึกร้อนรนและตื่นเต้น เหมือนกับว่ามีสิ่งใดมาบอกมันว่าภัยกำลังใกล้เข้ามา และก็จริงดังนั้น”  (...คึกฤทธิ์ ปราโมช,2544 : 92)  เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้เขียนไม่ได้อธิบายพฤติกรรมของมอมผ่านเรื่อง สัญชาตญาณ ทั้งที่น่าจะเป็นไปได้ว่าสัตว์มีสัญชาตญาณในการระแวงภัยได้ดีกว่ามนุษย์ แต่กลับนำเสนอในเรื่องของความสามารถในการมีลางสังหรณ์แทน  เราอาจกล่าวได้ว่า ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ผู้เขียนได้ใช้ ความแสนรู้ ของสัตว์มาเป็นจุดเด่น  และความแสนรู้นั้นก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของมนุษย์นั่นเอง  กล่าวคือ ความสามารถในการกระทำ การจดจำ และการแสดงออกแบบที่มนุษย์ต้องการ
นี่ก็ไม่ต่างจากเรื่องสั้นขนาดยาว เรื่อง พลายมลิวัลลิ์ของ ถนอม มหาเปารยะ  ที่นำเสนอเรื่องความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างพลายมลิวัลลิ์ กับหม่อมเจ้าสุริยา เยี่ยมสกุล ราชนิกุลผู้มีโชคชะตาพลิกผัน กลายเป็นผู้สาบสูญไปจากครอบครัวและแวดวงสังคม จนได้มาพบกับช้างแสนรู้คือพลายมลิวัลลิ์ ในแคมป์ทำไม้ของบริษัทป่าไม้ศรีราชา  ด้วยความที่ทั้งคู่ต่างติดเหล้างอมแงม  ทำให้มิตรภาพระหว่างคนกับช้างดำเนินไปอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในที่สุด  เมื่อพลายมลิวัลลิ์ได้ทำร้ายลูกชายของเขาด้วยความอิจฉาอย่างรุนแรง
ในเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้ ผู้เขียนได้กำหนดให้ตัวละครสัตว์ คือพลายมลิวัลลิ์ มีพฤติกรรมและนิสัยใจคอไม่ต่างจากมนุษย์คนหนึ่ง  คือมีความเป็นตัวของตัวเองสูง  เกกมะเหรกเกเร ดื้อรั้น และอาฆาตพยาบาท  พอ ๆ กับความอิจฉาริษยา ที่ฝังลึกในกมลสันดาน ภาพของพลายมลิวัลลิ์ที่ถูกนำเสนอในเรื่องนี้  จึงมีลักษณะเหมือนตัวละครที่เป็นมนุษย์มากกว่าเป็นสัตว์ ดังตอนหนึ่งที่กล่าวถึงพลายมลิวัลลิ์ถูกทำโทษจากแม่ของมัน
ฝ่ายช้างที่ต้องโทษจากมือมนุษย์มาพักหนึ่งหยก ๆ  แล้วมิหนำซ้ำยังได้รับการสั่งสอนจากแม่ของมันอีกต่อหนึ่ง ก็สุดที่จะสะกดกลั้นความเสียใจน้อยใจต่าง ๆ ได้ แม้เสียงร้องของมันผ่อนค่อยจนนิ่งแล้ว กริยาที่มันแสดงความเสียใจนั่นแหละกลับมีน้ำหนักกว่าเสียงร้องมาก มลิวัลลิ์ยืนน้ำตาไหลพรากและยืนนิ่ง ไม่พยายามหลบงวงยายมาแม่มัน  ไม่ดิ้นรนหรือทำอาการฮึดฮัดเหมือนถูกโบยจากคนเมื่อครู่นี้  ช้างยายมา เมื่อเห็นว่าได้ลงโทษลูกชายจนสะใจ และตัวแกเองก็หอบตัวโยนเหนื่อยแทบขาดใจตามวิสัยผู้ชราแล้ว ก็ยุติการเฆี่ยนตี ยืนนิ่งโยกตัวส่ายไปมาเหมือนจะบอกว่า โอ้ย อิฉันเหนื่อยแล้วเจ้าค่ะ เท่านี้เห็นจะพอที มันเข็ดแล้วหลาบจำบ้างหนาไอ้ลูกริยำ มึงละเกเรไม่มีใครเหมือน คราวหน้าคราวหลัง ท่านมาฟ้องอีกแม่จะเฆี่ยนให้เนื้อขาด
(ถนอม มหาเปารยะ, 2548 : 10-11)

            จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถนอม มหาเปารยะนำเสนอภาพของพลายมลิวัลลิ์และนางช้างผู้เป็นแม่ ผ่านภาษาของการอุปลักษณ์แบบ แอนโทรโปมอร์ฟิสม์ (anthropomorphism) หรือการทำให้สัตว์มีความเป็นมนุษย์  โดยนำประสบการณ์และความคิดของตน สร้างสัตว์ให้มีความเป็นคน ผ่านภาษาเชิงอุปลักษณ์  ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายถึงอากัปกริยา ความรู้สึก นึกคิด  เช่นการบรรยายว่า พลายมลิวัลลิ์ยืนน้ำตาไหลพราก” ขณะที่ช้างยายมา ผู้เป็นแม่ “เหนื่อยหอบตัวโยนเหนื่อยแทบขาดใจตามวิสัยผู้ชราภาพ”  หรือแม้แต่การคิดแทนว่า นางช้างพูดอะไรกับลูกชาย ก็คือภาษาที่ใช้กับมนุษย์นั่นเอง
            เป็นที่น่าสังเกตว่า ช้างในเรื่องนี้ ยังมีชื่อเรียกที่มีลักษณะของชื่อคนมากกว่าชื่อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น พลายมลิวัลลิ์ หรือ ยายมาไม่เพียงแต่เท่านั้น ถนอม มหาเปารยะ ยังสวมใส่ความเป็นคนให้กับพลายมลิวัลลิ์ ด้วยการนำเอาลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของมนุษย์มาประกอบสร้างตัวตนของช้างเชือกนี้ให้ต่างไปจากช้างเชือกอื่น ๆ  คือการให้มันติดเหล้างอมแงมเหมือนมนุษย์ และให้มีนิสัยอิจฉา ริษยา เป็นพิเศษ  ผู้เขียนให้เหตุที่พลายมลิวัลลิ์มีนิสัยเช่นนี้ ว่า เพราะมันเกิดและเติบโตมาในสังคมมนุษย์  ได้ซึมซับเอาลักษณะนิสัยใจคอของมนุษย์ไว้ในตัวของมันเอง

พลายมลิวัลลิ์เกิดและเติบโตขึ้นในหมู่มนุษย์ มันจึงได้รับอุปนิสัยไหวพริบทั้งในด้านที่ดีของมนุษย์และในด้านที่เสีย  คือความอิจฉา ริษยาหวงแหนในสิ่งและผู้ที่มันรัก แล้วที่มลิวัลลิ์รัก เผือก นั้น ขณะนี้ไม่มีใครสักคนในป่าศรีราชาเคลือบแคลงสงสัยผู้ใดทำตัวใกล้ชิดสนิทสนมกับเผือกให้มลิวัลลิ์รู้เห็น ผู้นั้นเท่ากับสร้างศัตรูสีเท้าที่  มีไหวพริบไม่แพ้คนขึ้นมาทันที  มลิวัลลิ์อาจซ่อนความไม่พอใจของมันไว้ได้นาน ๆ จนผู้นั้นเผลอตัวยอมให้มันเข้าใกล้ เมื่อนั้นแหละความเคียดแค้นของมันจะระเบิดปังออกมาในรูปที่เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่ชีวิตผู้นั้นทันที
(ถนอม มหาเปารยะ,2548 : 178-79)

ในความคิดของถนอม มหาเปารยะ มนุษย์มีอิทธิพลต่อสัตว์เป็นอย่างมาก สัตว์จะเลียนแบบพฤติกรรมดีเลวจากมนุษย์ ซึ่งสื่อให้เห็นวิธีคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างเด่นชัด ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็มองว่า สัตว์บางชนิดมีคุณสมบัติพิเศษที่เหมือนมนุษย์ นั่นคือ ความฉลาดและแสนรู้  สามารถเข้าใจกฎเกณฑ์ของมนุษย์ได้ และหากเมื่อใดก็ตามที่สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมตามสัญชาตญาณดั้งเดิมที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ ก็จะถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และอาจได้รับการลงโทษ โดยแบบแผนและวิธีการของมนุษย์  ดังกรณีที่พลายมลิวัลลิ์ถูกเฆี่ยน เพราะมันได้ฆ่าควาญช้าง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ในระบบจริยธรรมของมนุษย์ 
พลายมลิวัลล์ยังถูกประกอบสร้างให้มีลักษณะพิเศษ ด้วยการเพิ่มลักษณะนิสัยให้แตกต่างไปจากช้างทั่วไปนั่นคือ ให้มีความริษยาพยาบาทอย่างรุนแรง       ในตอนที่นายสุวรรณซึ่งเป็นพนักงานของบริษัททำไม้ศรีราชาบอกแก่หม่อมเจ้าสุริยาด้วยความกังวลต่ออุปนิสัยที่ไม่ปกติของพลายมลิวัลลิ์ เขาย้ำให้เห็นว่า “ถ้าไอ้มลิลงติดควาญคนไหน ควาญนั้นจะไปสนิทสนมแม้แต่กับเมียตัวให้เห็นก็ไม่ได้...โดยมากถ้าควาญรู้ตัวว่าไอ้มลิติด ก็มักจะต้องชิงลาออกเสียโดยเร็ว พูดก็พูดเถอะครับ คุณไปถ่ายอุจจาระไอ้มลิก็จะตามไปเฝ้าคุณถึงหน้าส้วม และอาจจะเปิดประตูมองเอาด้วย ถ้าคุณนั่งนานเกินไป..” (หน้า 32)  
ความอิจฉาริษยาของพลายมลิวัลลิ์นี่เอง ที่กลายมาเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมในตอนจบ  เมื่อวันหนึ่งภรรยาของหม่อมเจ้าสุริยาซึ่งแต่งงานใหม่ ได้พาลูกชายของเขาที่เกิดกับหล่อนมาเที่ยวที่บริษัททำไม้  ไม่มีใครจำหม่อมเจ้าสุริยาได้ แต่เขาจำภรรยาและลูกชายของตนเองได้  เมื่อได้โอกาสใกล้ชิดกับบุตรชาย เขาจึงแสดงออกถึงความรักความผูกพันมากเป็นพิเศษ ทั้งหมดอยู่ในสายตาของพลายมลิวัลลิ์  และโดยที่ มลิวัลลิ์ โกรธ รัก โลภ หลงไม่น้อยหน้ามนุษย์ (หน้า 92)  มันจึงเกิดความอิจฉาริษยาอย่างรุนแรง และหาทางกำจัดหนูน้อยด้วยการปลดลิ่มล็อคล้อรถบรรทุกซุงให้ไหลไปทับหมายเอาชีวิต  ทำให้ นายเผือกหรือหม่อมเจ้าสุริยา ต้องวิ่งเข้าไปนอนขวางรางรถเพื่อปกป้องบุตรชายของตน จนถูกรถบรรทุกซุงทับตาย
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การนำเสนอภาพของ มอมและ พลายมลิวัลลิ์ ก็ดี  ล้วนแล้วแต่ดำเนินไปตามแบบการอุปลักษณ์ที่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง  ด้วยการประกอบสร้างลักษณะบางอย่างของสัตว์ให้ใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด ทั้งพฤติกรรม การแสดงออก และเรื่องของความรู้สึกนึกคิด  การนำเสนอเช่นนี้ อาจขับเน้นให้เรื่องที่เขียนมีสีสันเร้าใจ ชวนติดตาม และสามารถสร้างความตรึงใจต่อผู้อ่านเป็นอย่างมาก แต่ก็สื่อให้เห็นถึงทัศนะของนักเขียนที่มองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติโดยยึดถือเอาตนเองเป็นใหญ่ ในกรณีของพลายมลิวัลล์นั้น แม้จะมีคุณลักษณะทางจิตใจเหมือนคนมากเพียงไร  แต่ถึงที่สุดแล้วก็คือภาพแทนของธรรมชาติที่เป็นอื่น มีความลึกลับ เกินหยั่งถึงและไม่อาจไว้วางใจได้อยู่นั่นเอง
            2. ซาเก๊าะ กับเสียงแรกของจริยธรรมที่มีต่อสัตว์
            เรื่องสั้น ซาเก๊าะของมนัส จรรยงค์ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารสวนอักษร ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2486 เรื่องสั้นเรื่องนี้ ได้รับการกล่าวถึงจากนักอ่านและนักวิจารณ์อยู่เสมอในฐานะ เรื่องเอก อีกเรื่องหนึ่งของนักเขียนเรื่องสั้นผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้
            “ซาเก๊าะ เป็นเรื่องราวของวัวชนนักสู้แห่งอำเภอยามู จ.ปัตตานี  มันขึ้นชื่อในความเก่งกล้าสามารถในการต่อสู้กลางสังเวียน ที่ทำให้ฮะยีซะผู้เป็นเจ้าของและนักพนันทั้งหลายร่ำรวยจากการเดิมพันอยู่เสมอ  ซาเก๊าะได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากเจ้าของเป็นอย่างดี  ดังที่ เปรื่อง นักพนันสมัครเล่นซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องกล่าวว่า “มันถูกเลี้ยงดูอย่างดีที่สุด กินดี นอนกางมุ้ง ออกกำลังทุกวัน ฮะยีซะรักมันเหมือนบุตร ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันทำเงินให้ฮะยีซะจนมั่งคั่งขึ้น (มนัส จรรยงค์, มปป.  : 39)
 เมื่อซาเก๊าะเอาชนะคู่ต่อสู้ซึ่งเป็นวัวหนุ่มกว่าได้อย่างราบคาบ มันก็กลายเป็นวัวชน ขึ้นคาน ไร้คู่ต่อสู้ไปโดยปริยาย   ต่อมานายอำเภอได้แจ้งความประสงค์ว่าจะจัดให้มีการชนวัวครั้งสำคัญในงานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปีของอำเภอ  ทำให้ฮะซีซะต้องหาคู่ต่อสู้ของซาเก๊าะให้สมน้ำสมเนื้อ ในที่สุดก็ไปได้ยอดวัวแห่ง อ.ปานาเระ ที่เป็นวัวชนขึ้นคานอีกตัวหนึ่งมาเป็นคู่ต่อสู้  ข่าวการประลองระหว่างซาเก๊าะและยอดวัวชนจากปานาเระ  ทำให้วงการพนันขันต่อคึกคักเป็นพิเศษ ในขณะที่ฮะยีซะกลับไม่ดูแลบำรุงซาเก๊าะเหมือนอย่างที่เคย ในทางตรงข้าม เขาทรมานและตรากตรำให้มันผ่ายผอม ไร้สง่าราศี เขาทรมานซาเก๊าะเพื่อจะล้มวัวและหวังเงินเดิมพันจากฝ่ายตรงข้าม ขณะที่เปรื่องเมื่อรู้เรื่องเข้าก็รับไม่ได้ เขาอยากช่วยซาเก๊าะด้วยความสงสาร แต่ยังมองไม่เห็นวิธี
 ใกล้จะถึงวันชิงชัย ซาเก๊าะถูกเจ้าของทรมานหนักขึ้น ด้วยการให้ยืนแช่น้ำทั้งคืนทั้งวัน เมื่อถึงวันต่อสู้ ซาเก๊าะก็หมดสภาพโดยสิ้นเชิง มันผอมไร้เรี่ยวแรงและถูกคู่ต่อสู้กระหน่ำแทงล้มคว่ำลงหลายครั้ง สิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้มันยืนหยัดอยู่ได้ คือจิตใจของวัวนักสู้  จนกระทั่งเมื่อถึงคราวเลือดเข้าตา ซาเก๊าะก็ฮึดสู้จนสามารถคว่ำต่อสู้จนตายคาสนามก่อนที่มันจะขาดใจตายไปด้วย เมื่อผลการต่อสู้พลิกกลับ ฮะยีซะและนักพนันทั้งหลายถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว  เหตุที่ซาเก๊าะพอมีแรงลงสนาม ก็เพราะเปรื่องนักพนันสมัครเล่นแอบเอาอาหารไปให้มันกิน เขาทำลงไปด้วยความเวทนาสงสารซาเก๊าะนั่นเอง
            อาจกล่าวได้ว่า ซาเก๊าะของมนัส จรรยงค์ เป็นเรื่องสั้นที่นำประเด็นเรื่องมนุษยธรรมมาเป็นแก่นของเรื่องอย่างสำคัญ  เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นประเด็นทางจริยธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ การเอาเปรียบ และการทรมานสัตว์ที่กระทำโดยน้ำมือมนุษย์  คือการมองว่าสัตว์กับมนุษย์ไม่มีความเท่าเทียมกัน มนุษย์จึงปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเอารัดเอาเปรียบ และเห็นสัตว์เป็นเบี้ยล่างเสมอ  การปฏิบัติของฮะยีซะที่มีต่อวัวชนของตนเข้าข่ายการกระทำในลักษณะนี้  แม้ว่าซาเก๊าะจะนำชัยชนะมาให้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนเขามีฐานะดีขึ้นจากวัวชนตัวนี้  แต่ด้วยความโลภ ทำให้เขาต้องละเลยสิ่งที่เคยปฏิบัติสืบมา ด้วยการทรมาน งดอาหารและปฏิบัติต่อซาเก๊าะอย่างไร้ความเมตตา
  แม้ว่ามนัส จรรยงค์ จะไม่ได้ตั้งคำถามถึงความมีมนุษยธรรมต่อสัตว์  แต่เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ถือได้ว่า เป็นการนำเสนอปัญหาเรื่องจริยธรรมในความสัมพันธ์กับมนุษย์กับสัตว์อย่างชัดเจนเป็นเรื่องแรกๆ  สอดคล้องกับแนวทางของการวิจารณ์เชิงนิเวศที่ได้นำเสนอมาแล้วในตอนต้น  แต่น่าเสียดายที่ประเด็นดังกล่าวนี้  ไม่ค่อยได้รับการนำเสนอในวรรณกรรมไทยที่เขียนขึ้นในเวลาต่อมา
       3. วิถีคน วิถีเสือ : การสร้างตัวตนให้กับสัตว์ใน ทางเสือและ คนกับเสือ
นวนิยายเรื่อง “ทางเสือ” ผลงานของศิลา โคมฉาย และ เรื่องสั้น คนกับเสือ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นงานเขียนที่มีลักษณะร่วมกันโดยใช้ เสือเป็นตัวละครสำคัญในเรื่อง วรรณกรรมทั้งสองเรื่องได้รับการกล่าวถึงพอสมควรจากนักวิจารณ์วรรณกรรม  ในแง่ที่นักเขียนพยายามเชื่อมโยงสัตว์ป่าอย่างเสือเข้ากับ ภาวะของมนุษย์  เมื่อเสือกับคนมาเผชิญหน้ากันในสถานการณ์แห่งการไล่ล่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการตระหนักรู้และ พุทธิปัญญาของมนุษย์”  น่าจะเป็นแก่นเรื่องหลักที่งานเขียนทั้งสองเรื่องนี้นำเสนอ    แม้ว่าเรื่องหนึ่งจะเป็นนวนิยายขนาดสั้น และอีกเรื่องนำเสนอในรูปแบบของเรื่องสั้นก็ตาม 
เรื่อง ทางเสือโดยศิลา โคมฉาย เล่าเรื่องของพรานหนุ่มที่มีประสบการณ์และอดีตอันขมขื่น ออกจากบ้านไปเข้าป่าล่าสัตว์ แต่ถูกสถานการณ์ชักนำให้ไปเผชิญหน้ากับเสือในป่าลึก ในตอนแรกเขาอยู่ในฐานะผู้ล่า แต่ต่อมา กลายสภาพมาเป็นผู้ถูกล่า  ช่วงณะที่ได้เผชิญหน้ากับสัตว์ร้ายเจ้าป่า ชายหนุ่มรู้สึกว่าตัวเขาเองมีความด้อยกว่าจนแทบจะปราศจากตัวตน  การเผชิญหน้ากับสัตว์ร้ายที่เขาต้องวิ่งหนีมาโดยตลอด ทำให้ชายหนุ่มบรรลุถึงภาวะบางอย่าง ศิลา โคมฉาย ได้บรรยายถึงสภาวะของชายหนุ่มในตอนนั้นไว้ว่า
เขายืนเกาะต้นไม้นิ่งอยู่อีกพักใหญ่ งุนงงกับสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านไป  รู้สึกเหมือนลอยฟ่องอยู่ในห้วงฝัน...ฝันเห็นสิ่งที่เขาวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงมานาน สิ้นความวิตกกังวล หวาดกลัว ณ จุดนั้น เหลือเพียงส่วนเดียวคือใจสงบนิ่ง ย่างก้าวมั่นคง
ห้วงเวลาอันยิ่งใหญ่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิตแล้ว  สิ่งที่ซ่านกำซาบอยู่ในความรู้สึก คือความปีติอันไร้ขอบเขต แผ่ซ่านอยู่ในแสงสว่างเรือง เป็นประกายงดงาม
การเผชิญหน้ากัน คล้ายได้พบเห็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของตัวเองที่ไม่เคยรู้จัก เมื่อตัวตนเก่า ๆ กลับคืนมา จึงเริ่มออกเดินไปข้างหน้า ตัวเบาโหวงหวิว

ศิลา  โคมฉาย.2540 : 85)

ในเรื่องสั้น “คนกับเสือ” ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล  เล่าเรื่องของชายหนุ่มคนหนึ่งผู้มีความหลังในชีวิตที่เสมือนแผลเรื้อรังอยู่ในจิตใจ ได้รับมอบหมายภารกิจตามล่าเสือที่มาแอบขโมยฆ่าวัวของชาวบ้าน  ระหว่างการแกะรอยติดตามอันยาวนาน เขาก็ได้พลัดหลงเข้าไปในอาณาจักรของเสือร้าย และสำเหนียกได้ถึงความยิ่งใหญ่ของเจ้าถิ่น ที่กดทับให้ตัวของเขาลีบเล็กลงในความรู้สึก  แต่กลับค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปจากจิตใจที่ขาดพร่องของตนเอง  ดังที่เสกสรรค์ได้เสนอว่า

และแล้วในวูบภวังค์นั้นเอง ในห้วงนึกลึกสุด เขาก็บังเกิดความรู้สึกค้นพบ  เขารู้สึกได้สัมผัสบางสิ่งบางอย่างอันคุ้นเคยราวกับเป็นส่วนหนึ่งตัวเอง  บางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกครบถ้วนทางจิตวิญญาณเป็นครั้งแรก
เขารู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเสือตัวนี้  มันเป็นความที่อยู่เหนือถ้อยบรรยายใด ๆ เป็นปีติสุขซึ่งซึมซ่านไปทุกอณูแห่งตัวตน...
(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล.2539 :126)
           
ความพ้องกันอย่างบังเอิญ [6] ของวรรณกรรมเกี่ยวกับเสือทั้งสองเรื่องนี้  อยู่ที่ตัวละครหลักคือชายหนุ่มทั้งสองคนมีภูมิหลังและบาดแผลคล้าย ๆ กันและตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกันนัก คือการพลิกผันของสถานการณ์จาก ผู้ล่ากลายเป็น ผู้ถูกล่า จากความฮึกเหิมกลายมาเป็นความกลัว จากนั้นก็นำมาสู่การเผชิญหน้าระหว่างคนกับเสือ ซึ่งถือเป็นจุดวิกฤติของเรื่อง ก่อนจะจบลงด้วยการตระหนักรู้หรือภาวะ การรู้แจ้งของตัวละครทั้งสอง ที่ทำให้ความกลัวและบาดแผลทั้งหลายในจิตใจถูกชำระล้างให้หายไป เมื่อได้หยั่งรู้ถึงความจริงบางอย่าง  แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือการนำเสนอภาพของ เสือในงานเขียนทั้งสองเรื่อง ที่นักเขียนทั้งต่างประกอบสร้าง ตัวตนและอัตลักษณ์ของความเป็นเสือ ให้ต่างไปจากเสือที่รับรู้กันโดยทั่วไป
ใน คนกับเสือของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เสือถูกนำเสนอผ่านเสียงเล่าของผู้ประจักษ์แจ้งที่เพ่งลึกเฉพาะเจาะจงไปที่เสือ  ในลักษณะของผู้หยั่งรู้ถึงภาวะจิตใจและความรู้สึกของมัน  ด้วยมุมมองเช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนสามารถสร้างตัวตนของเสือได้อย่างแจ่มชัด ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและภาวะลึกสุดในจิตใจ สำหรับเสกสรรค์ ประเสริฐกุล  เสือคือภาวะของปัจเจกภาพที่สมบูรณ์แบบ ดังที่เขากล่าวถึงในตอนหนึ่งว่า “มันคือรูปธรรมของความเหนือกว่า คือวิญญาณอิสระที่สามารถดูแลตนได้ คือปัจเจกภาพที่มิว่าผู้ใดก็มิอาจมองข้าม ทุกครั้งที่มันส่งเสียงกึกก้องคำราม ทั่วทั้งป่าจะเงียบกริบ ยามที่มันเยื้องย่างตรวจตราอาณาจักร ทุกชีวิตล้วนรักษาระยะห่าง” (หน้า 100)  
เสือในเรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกนำเสนอผ่านภาษาของการอุปลักษณ์แบบ การทำให้เป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการพรรณนารูปลักษณ์ภายนอก หรือภาวะภายในล้วนแล้วแต่ให้ภาพคู่ขนาน ระหว่าง ความเป็นสัตว์ป่า กับ ความเป็นมนุษย์”  ความเป็นสัตว์ป่านั้นถูกวาดภาพให้เห็นถึงสัญชาตญาณของนักล่า และศักยภาพที่ติดตัวมาตามสายพันธุ์ของสัตว์ผู้ล่า “มันสามารถปลิดชีวิตอื่นได้ภายในพริบตา กระโดดได้สูงกว่าสองเท่าของความยาวตัวเอง วิ่งด้วยความเร็วไม่แพ้พญาเหยี่ยวยามเหินบิน...กระทั่งว่ายน้ำเป็นระยะทางเหลือเชื่อในยามจำเป็น (หน้า 99-100)
 ส่วนความเป็นมนุษย์นั้น เสือถูกนำเสนอผ่านภาษาที่บรรยายถึงพฤติกรรมและ อากัปกริยาที่ใช้กับมนุษย์ ทั้งในแง่ของสติปัญญา ไหวพริบ  (มันรู้ว่าที่ราบในแอ่งเขาจะค่อย ๆ หดแคบลง / มันรู้ว่าสันเนินที่มันอาศัยพรางตัวมาตั้งแต่แรกลาดต่ำลงเรื่อย ๆ / มันรู้สึกถูกคุมคามอีกครั้งหนึ่ง)  คำที่บ่งบอกถึงการกระทำ (มันไม่เคยยึดถือสิ่งเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจ / มันไม่ได้ค้นพบดินแดนดังกล่าวโดยบังเอิญ /นานมาแล้วที่มันไม่ได้ทำสงครามกับผู้บุกรุก)
จะเห็นได้ว่า ข้อความที่ขีดเส้นใต้ คือคำที่เรามักใช้บ่งบอกถึงการกระทำและความรู้สึกของมนุษย์ ด้วยการใช้ภาษาเช่นนี้ เสกสรรค์ได้สร้างภาพของเสือที่มีภาวะของความเป็นมนุษย์ไปโดยปริยาย และมันยิ่งถูกทำให้ชัดขึ้นเมือผู้เล่าเรื่องนำเสนอภาพของเสือผ่านมุมมองของตัวละครที่เป็นมนุษย์ ดังเช่นตอนที่ชายหนุ่มเดินเข้าไปในดงลึก ซึ่งเป็นอาณาเขตของเสือตัวนั้น เขารู้สึกเสมือนกำลังล่วงเข้าไปในอาณาจักรของผู้มีบุญญาบารมี” (หน้า 117) การบรรยายอีกหลายตอนที่มองผ่านสายตาและความคิดคำนึงของชายหนุ่มให้ภาพของเสือที่สง่างาม น่าเกรงขาม ทรงไว้ด้วยพลังอำนาจ  โดดเดี่ยวและสันโดษ ทว่าฉลาดอย่างล้ำลึก
สำหรับภาพของเสือในนวนิยายเรื่อง ทางเสือของศิลา โคมฉาย เสือถูกสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันนัก นั่นคือ “เป็นรูปธรรมของความเหนือกว่า” หรือการทำให้สัตว์มีความเหนือกว่ามนุษย์ มีพลังกดข่มให้มนุษย์หวาดระย่อ แม้เพียงได้ยินเสียงร้องคำรามและร่องรอยเท้าโดยยังไม่เห็นตัวตนที่แท้จริง  แต่ก็ทำให้พรานหนุ่มผู้ไล่ล่าถึงกับหวาดกลัวอย่างรุนแรง  ศิลา โคมฉาย บรรยายการปรากฏตัวของเสือเป็นครั้งแรกว่า

โฮก!! เสียงคำรามแทงทะลุความเงียบดังสะท้าน  มีลักษณะพวยพุ่ง ครอบคลุมและเกิดน้ำหนักกดดัน กังวานนั้นสยบป่าเขาให้ตระหนก  หางเสียงสะท้อนเป็นห้วงกระแทกกระทั้น  คล้ายจะประกาศแสดงความอยู่เหนือ ทรงอำนาจและเปี่ยมพลังสูงสุด สะกดให้ทุกสิ่งทุกอย่างสงบอยู่แทบพื้น” 
(ศิลา โคมฉาย.2540 : 44) 

เสือของศิลา โคมฉาย ไม่เพียงแต่มีพลังอำนาจเหนือทุกสิ่ง แต่ยังมีความฉลาดล้ำเช่นเดียวกับมนุษย์  ผู้เขียนได้สร้างตัวตนของเสือที่มีความนึกคิดไม่ต่างจากมนุษย์ รู้จักวางแผน เต็มไปด้วยกลอุบายและเล่ห์เหลี่ยม  ดังในตอนที่พรานหนุ่มหนีขึ้นไปค้างคืนบนต้นไม้ และได้ยินเสียงเสือฟาดหางอยู่เบื้องล่าง

กังวานสะท้อนค่อย ๆ ขาดหาย ทุกอย่างเงียบ  ก้อนสะอื้นแล่นมาอุดตันลำคอ  คั่งแค้นจนเนื้อตัวสั่นเทา  ไอ้สัตว์นั่นเอาเปรียบ มุดหัวอยู่ในความมืดทึบ คอยจับจ้องวางแนวให้ดิ้นทุรนทุราย แอบซุ่มและรอโอกาสสังหาร...มันชั่วร้าย ใช้ร่องรอย เสียง และสร้างบรรยากาศข่มขู่ให้เขากลัวจนอกใจแทบระเบิด
(ศิลา โคมฉาย 2540: 54)
            หรือในอีกตอนที่เขาบรรยายพฤติกรรมของเสือไว้ว่า  เสือวนเวียนอยู่รอบ ๆ และเฝ้าคอย เขาเป็นเหยื่อที่มันพบแล้ว เปิดการจองเวรชนิดเกาะติด สร้างความพรั่นพรึงด้วยเสียงข่ม การถูกปิดล้อมเหมือนตกเป็นเป้าสายตาเพียงฝ่ายเดียว ไม่อาจรู้เห็นการเตรียมการ ทิศทางและจุดที่พุ่งเข้าโจมตีจากศัตรู ช่างทรมานความรู้สึกสาหัส ความโกรธเดือดพลุ่งพล่าน (ศิลา โคมฉาย 2540 :57)
            จะเห็นได้ว่า ศิลา โคมฉาย ใช้วิธีการที่ไม่ต่างจากเสกสรรค์  ประเสริฐกุลในการประกอบสร้างตัวตนของเสือให้มีลักษณะเหมือนมนุษย์ นั่นคือใช้ภาษาเชิงอุปลักษณ์ที่สวมใส่พฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ให้กับเสือซึ่งเป็นสัตว์  พฤติกรรมของเสือที่ถูกนำเสนอ จึงไม่ต่างจากพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกิริยาอาการ  หรือความรู้สึกนึกคิด
            เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ตัวตนของเสือในงานเขียนทั้งสองเรื่องถูกประกอบสร้างผ่านภาษาอุปลักษณ์ของการทำให้เป็นมนุษย์ ทำให้เสือทั้งสองตัวมีมิติของความเป็นสัตว์ป่าตามสัญชาตญาณเดิม  ที่มีความดิบเถื่อน ไม่เชื่อง และลึกลับเกินการหยั่งรู้ของมนุษย์  ส่วนในมิติของความเป็นคนนั้น  ได้สื่อให้เห็นว่า ที่แท้แล้วเสือไม่ได้ด้อยกว่าคนเลย ซ้ำยังมีพลังอำนาจเหนือกว่า  มีศักยภาพและสติปัญญาเท่าเทียมมนุษย์ เช่น มีความคิด  ไหวพริบ ความสามารถในการวางแผน ปิดล้อมให้มนุษย์ตกอยู่ในความหวาดกลัวและตกเป็นเบี้ยล่างอย่างง่ายดาย  ดังที่ปรากฏในเหตุการณ์ที่ตัวละครทั้งสองต้องเผชิญหน้ากับเสือ
            การสร้างตัวตนของเสือในลักษณะนี้  พิจารณาในมุมมองของการวิจารณ์เชิงนิเวศ ก็คือการสื่อให้เห็นถึงทัศนะในการมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติของเสกสรรค์  ประเสริฐกุล และศิลา โคมฉาย  แม้นักเขียนทั้งสองจะใช้วิธีสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ของเสือด้วยการอุปลักษณ์ให้เหมือนมนุษย์  ซึ่งถือว่าเป็นระบบคิดที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง   แต่นักเขียนไทยทั้งสองคนใช้วิธีนี้  เพื่อยกระดับตัวตนและสถานะของเสือให้สูงส่งเทียบเท่ามนุษย์ หรืออาจดูเหนือกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำไป  ซึ่งมีนัยความหมายให้เห็นว่านักเขียนทั้งสองมองว่าธรรมชาติมีพลังอำนาจ ลึกลับและอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์  เสือในงานเขียนทั้งสองเรื่อง คือภาพแทนของธรรมชาติ ขณะชายหนุ่มทั้งคู่คือภาพแทนของมนุษย์ และหากมองให้แคบเข้าเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง คนกับ สัตว์ เสือเป็นสัตว์สายพันธุ์เดียวที่มนุษย์ยอมรับว่ามีความเหนือกว่าตน  ดูเหมือนทั้งเสกสรรค์และศิลา ต่างมองเสือที่เป็นมากกว่าเสือ หากแต่มันคือ ภาวะ” บางอย่างที่อยู่เหนือ มนุษยภาวะในแทบทุกกรณี
            กรณีชายหนุ่มในเรื่อง คนกับเสือผู้จมปลักอยู่กับบาดแผลในอดีต และแอบซ่อนความปรารถนาลึกลับบางอย่างในก้นบึ้งของจิตใจ เสือ คือภาวะของความเป็นป่าดงพงไพร หรือที่เสกสรรค์เรียกว่า วิญญาณป่าซึ่งก็คือภาวะของความเงียบสงบ สันโดษ อิสระเสรี หรือความปรารถนาที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับป่า  ชายหนุ่มผู้ผ่านการศึกษา และประสบการณ์อันเจ็บปวดในสังคมของมนุษย์และโลกแห่งการงานซึ่งเป็นเหมือน สถานที่ที่ไม่มีต้นไม้ ตระหนักได้ว่า สถานที่แห่งนั้นไม่เหมาะกับตัวเอง

เขาใช้เวลาพักใหญ่เพื่อสำรวจดินแดนอันปราศจากต้นไม้และเสียงนกร้อง แอบดูผู้คนไล่ล่ากันโดยไม่มีกฎกติกา สัมผัสความเงียบสงัดกลางฝูงชน  สังเกตความโดดเดี่ยวที่ปราศจากสำนึกสันโดษและทดลองใช้ชีวิตแบบไร้สายใยกับผู้ใด....
แต่ในที่สุดเขาก็ค้นพบว่ามันเป็นทุกสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวเขา เป็นทุกอย่างที่ขัดแย้งกับวิญญาณอิสระที่ติดตัวมา
(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล.2545 : 117-118) 

เสียงเพรียกแห่งวิญญาณป่า และความปรารถนาสันโดษ อิสระเสรีของเขา ทำให้ชายหนุ่มกลายเป็น คนอื่นในสังคม  สังคมเมืองและโลกแห่งการงาน มันพยายามทำให้เขากลายเป็นสัตว์เลี้ยงเชื่อง ๆ”  แต่เมื่อเขาไม่ยอมศิโรราบ และ ยืนต้านมันด้วยวิญญาณป่า ผลที่ชายหนุ่มได้รับก็คือ การผลักไสไล่ส่งจากสังคม และข้อกล่าวหาสารพัด นั่นเองที่ทำให้เขาโหยหาที่จะกลับไปสู่ บ้านเกิดดั้งเดิม ซึ่งก็คือป่าและสัตว์ในสายพันธุ์เดียวกัน

เมื่อเขาไม่ยอมจำนน ทั้งหัวใจจึงเต็มไปด้วยริ้วรอยบาดแผล  มีบางค่ำคืน เขานอนขดตัวอยู่ในมุมมืดเหมือนสัตว์ป่าบาดเจ็บ เขาไม่ปรารถนาสายตาสมเพชจากใคร ยามนั้นได้แต่ฝันถึงดวงดาวเกลื่อนกล่นทุ่งฟ้า ฝันถึงทางช้างเผือกที่เขาเคยเหม่อมองจากยอดเขา...ราวโหยหาบ้านเกิดดั้งเดิม   เหนือสิ่งอื่นใด เขาฝันถึงสัตว์ในสายพันธุ์เดียวกัน [7]
(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล.2545 : 119) 
ข้อความที่ขีดเส้นใต้ คือ โหยหาบ้านเกิดดั้งเดิม ให้ความหมายว่าถึง ป่าดงพงไพร ซึ่งเสกสรรค์สื่อถึง สภาพดั้งเดิมของธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของมนุษย์ ในความหมายของนักเขียนก็คือมนุษย์มาจากธรรมชาตินั่นเอง ในขณะที่คำว่า สัตว์สายพันธุ์เดียวกัน สื่อถึง เสือซึ่งก็คือ ภาวะธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความสันโดษ อิสระเสรี ที่เขาเรียกว่า วิญญาณป่า”  ดังนั้นเมื่อชายหนุ่มได้เผชิญหน้ากับเสือเจ้าป่า อันเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในเรื่องสั้นเรื่องนี้ เขาจึงไม่ได้แสดงความหวาดกลัวอีกต่อไป หากแต่เกิดตระหนักรู้และประจักษ์แจ้งต่อตนเอง ว่าเขากับเสือคือสิ่งเดียวกัน มันเป็นการตระหนักรู้ที่เต็มไปด้วยความปีติเบิกบาน และทำให้ความขาดพร่องในจิตวิญญาณถูกเติมเต็มอย่างสมบูรณ์แบบ  เสกสรรค์บรรยายความรู้สึกของชายหนุ่มในตอนนี้ว่า

เขารู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเสือตัวนี้...มันเป็นความรู้สึกที่อยู่เหนือคำบรรยายใด ๆ เป็นปีติสุขซึ่งซึมซ่านไปทุกอณูแห่งตัวตน เป็นสายน้ำแห่งสำนึกที่ท่วมท้นล้นหลากออกไปรอบทุกทิศทุกทาง เป็นห้วงยามที่เดือนดาวสายรุ้งและดวงตะวันมารวมชุมนุมกันโดยปราศจากเส้นแบ่งแห่งทิวาและราตรี เป็นวินาทีที่กาลเวลาหยุดนิ่งเพื่อให้เอกภพได้โอบกอดอนันตกาล
เขาคือเสือ เสือคือเขา และหากมันสมควรตาย เขาก็ไม่ควรมีชีวิตอยู่
(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล.2545 : 119) 

แม้ว่าเสกสรรค์จะจบเรื่องสั้นเรื่องนี้ด้วยการให้ชายหนุ่มตัดสินใจลั่นไกปืนไรเฟิลเพื่อสังหารเสือตามพันธะที่มีต่อหมู่บ้านและความหวังของพ่อ  แต่เขาก็ยอมจบชีวิตตัวเองไปพร้อมเสือตัวนั้น ถึงแม้ชายหนุ่มจะตาย มันก็หาใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป เพราะการตายของเขาก็คือการกลับไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับเสือ หรือ วิญญาณป่า หรือนัยหนึ่งก็คือธรรมชาตินั่นเอง
นี่ก็ไม่ต่างไปจากพรานหนุ่มในเรื่อง ทางเสือของศิลา โคมฉาย  เมื่อชะตากรรมผลักไสให้เขาได้มาเกี่ยวข้องกับเสือ ทั้งในฐานะของผู้ไล่ล่า จนพลิกกลับมาเป็นผู้ถูกล่า ระหว่างการหลบหนีและซุ่มรอ พรานหนุ่มได้มีโอกาสทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาของตัวเองอย่างจริงจัง ระคนกับกับความหวาดวิตกนานาที่สุมประดังเข้ามาขณะตกอยู่ในการปิดล้อมของเสือ ทำให้เขาตกอยู่ในภาวะทุรนทุราย ไม่มีสมาธิ  กระทั่งในวินาทีที่เขาพลันได้เผชิญหน้ากับเสืออย่างเปิดเผย เขาก็ได้เห็นถึงความสงบนิ่งอันทรงพลังของมัน  ศิลา โคมฉายให้ภาพของเสือในตอนนี้สลับกับการบรรยายถึงสภาพจิตใจของพรานหนุ่ม ที่แสดงถึงความ เหนือกว่า ของอีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด

เสือ!
สัตว์ที่เหยียดตัวยืนมั่นคงอยู่ตรงหน้า แววตาเขียวอมเหลืองจ้องเขม็ง ตาดำสีน้ำตาลออกแดงเรียวเล็กไม่เคลื่อนไหว มันจังก้าอยู่บนลานโล่ง นิ่งงันราวรูปสลักจากแผ่นหิน
หนี!
ความรู้สึกบางส่วนสั่งงาน แต่ขาไม่ยอมก้าว ไม่มีโอกาสเช่นนั้นอีกแล้ว นิ่งแข็งเหมือนต้องคำสาป จ้องประสานดวงตาแน่ว ไหล่อิงต้นไม้ ปืนในมือยกค้างแค่ระดับเอว ปลายกระบอกชี้ตรงไปข้างหน้า
เสือพ่วงพีขนเป็นมันปลาบ ลอนเนื้อตรงคอต่อเป็นปล้อง ลายสีน้ำตาลดำพาดขวางเป็นริ้วบนพื้นเหลืองสดรอบปากและหนวดชี้โด่เด่ขาวหม่น ตัวมันสูงใหญ่ แผงเนื้อตรงช่วงอกแกร่ง คล้ายจะอัดพลังมหาศาลไว้เต็มล้น..
(ศิลา โคมฉาย.2540 : 78)

ภาพของเสือที่ผู้เขียนนำเสนอในสถานการณ์ตอนนี้  เป็นทั้ง รูปธรรมที่เหนือกว่า และ ภาวะ บางอย่างที่สื่อถึงความสงบนิ่งอันเต็มไปด้วยพลังอำนาจในสายตาของพรานหนุ่ม  ภาวะดังกล่าวดูเหมือนจะส่งพลังทอดมาสู่ตัวเขา  อาบและชำระความกลัวในตัวเขาของ ราวกับอาบน้ำในแม่น้ำที่สงบนิ่งลึกลับเกินหยั่งรู้ เมื่อความกลัวหายไป ทำให้เขากล้าเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้ามด้วยการ จ้องเข้าไปในดวงตาอย่างสงบนิ่งเช่นเดียวกัน และในวินาทีนั้นเองเขาก็ได้ตระหนักรู้และประจักษ์แจ้งถึงความจริงบางอย่าง  และเสือที่เขาเห็นก็ไม่ใช่เสือในห้วงคิดเดิม ๆ อีกต่อไป

เหมือนกับพระ ใจพลันคิดถึงหลวงพ่อร่างผอมบาง สิ่งเหมือนกันไม่ใช่ท่าเดิน ความมั่นใจหรือความกล้า แต่เป็นความนิ่ง
ความเหมือนในความต่าง เฉกเช่นจุดบนปลายสุดของปีกนกซ้าย-ขวา อันเท่าเทียมและสมดุล
สิ่งที่ปรากฏสะท้อนออกมาสู่ตัวเขา เป็นความมั่นคงที่ไม่มีสิ่งใดโยกคลอน เขารู้ว่ามีแต่เงาสะท้อนเช่นนี้เท่านั้น ที่เป็นอาวุธพอจะสู้รบตบมือ
(ศิลา โคมฉาย.2540 : 79)
การอุปลักษณ์ให้เสือเหมือนกับพระธุดงค์  นับเป็นการสร้างตัวตนให้กับเสือที่อาจจะต่างจากการอุปลักษณ์ของเสกสรรค์  ประเสริฐกุล  แต่ก็ให้ความหมายใกล้เคียงกัน เพราะพระธุดงค์ให้ความหมายของภาวะแห่งความนิ่งสงบ ความมั่นคง ความไร้ตัวตนและว่างเปล่า ไม่มีแม้แต่ความกลัวหรือความรู้สึกใด ๆ อีก นั่นคือการ ไร้ตัวตน”  ที่ศิลา โคมฉาย ย้ำว่า การไม่มีตัวตน ชะตากรรมจึงไม่เป็นของเขา  มันเป็นของธรรมชาติ  เป็นไปตามวิถีทางที่กำหนดแล้ว (ศิลา โคมฉาย 2540 : 82-83)  เมื่อตระหนักรู้ในความจริงข้อนี้ พรานหนุ่มจึงเริ่ม อ่านเสือ โดยการเชื่อมโยงกับอดีตและประสบการณ์อันขมขื่นของตัวเอง  ในสายตาของพรานหนุ่ม เสือคือชีวิต เช่นเดียวกับชีวิตของเขา  ดังความบางตอนที่ว่า

หากรูปทรงแห่งเรือนร่างที่ปรากฏ ทุกส่วนประกอบกันเป็นขอบเขตของชีวิตและความหวัง  ระหว่างสองชีวิต อาจทดแทนกันได้ด้วยภาพเปรียบเทียบ สีน้ำตาลดำลายริ้วพาดทาบคงต้องเป็นการถูกไล่ต้อนออกจากหนองน้ำ  กำนันผู้วางอำนาจปะทะเผชิญกับเขาด้วยความเกลียด  ความตายของพ่อบีบเต้นให้กระเด็นออกมาจากห้องเรียน...สีขาวแซมแทรกเป็นดนตรีที่เคยสัมผัส  ความฝัน ความรักที่ทุ่มเทให้กับลูก ๆ มองเห็นความสวยงามในเสรีภาพของนกขณะโบยบิน  แผงอกแกร่ง พละกำลังมหาศาลเหมือนการลงมือทำมาหากินกับไร่สวน โดยมิคิดคดโกงหรือใช้เล่ห์เหลี่ยม คมเขี้ยว กรงเล็บ นิ้วที่กระดิกไกปืน เป็นการล่าไล่ ทุกสิ่งประกอบเป็นเอกภาพแห่งชีวิตหนึ่งเดียว[8]
(ศิลา โคมฉาย.2540 : 83)

อาจพิจารณาได้ว่าการ อ่านเสือของพรานหนุ่ม โดยการเพ่งพินิจรูปลักษณ์ เรือนร่างและสรีระของเสือ คือการหวนคืนเข้าสู่ภาวะดั้งเดิมของธรรมชาติเช่นเดียวกัน การที่พรานหนุ่มเชื่อมโยงริ้วลาย และเรือนร่างของเสือแต่ละส่วนเข้ากับประสบการณ์และเรื่องราวในอดีตของตน นั่นคือการพยายามทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่มีเสือเป็นภาพแทน การให้ข้อสรุปว่า ทุกสิ่งประกอบเป็นเอกภาพแห่งชีวิตหนึ่งเดียว นั่นคือการตระหนักรู้ว่า ที่แท้มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเสือซึ่งเป็นสัตว์ก็มีความเท่าเทียมและเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ 
เราจะเห็นได้ว่า สัญญะที่ศิลาใช้แทนธรรมชาติ หรือ ภาวะธรรมชาติ มีถึงสองชั้นด้วยกัน สัญญะตัวแรกคือ พระธุดงค์ซึ่งอาจสื่อความหมายในเชิงพุทธปรัชญา แต่คำว่า ธรรมะในศาสนาพุทธกับ ธรรมชาติมีนัยความหมายเดียวกัน ส่วนสัญญะตัวที่สองคือ เสือซึ่งเป็นภาพแทนของภาวะธรรมชาติที่สงบนิ่ง มั่นคง และปราศจากตัวตน ความศรัทธาที่พรานหนุ่มมีต่อพระธุดงค์และเสือ คือความนอบน้อมและเคารพต่อธรรมชาติ  สำหรับพรานหนุ่ม ธรรมชาติยังมีความหมายต่อเขามากกว่านั้น เพราะมันทำให้เขาตระหนักรู้และประจักษ์แจ้งในความจริงของธรรมชาติและชีวิต เมื่อบรรลุถึงพุทธิปัญญา  เขาก็รู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อย เป็นอิสระและปลอดโปร่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนดังข้อความปิดท้ายในตอนจบที่ว่า ก้าวเคลื่อนต่ำลงไปสู่ความชุ่มเย็นอย่างเชื่องช้า ใจโล่งโปร่งเป็นสุข (หน้า 86)
จะเห็นได้ว่า ในงานเขียนทั้งสองเรื่องที่ นำเสนอเรื่องราวการเผชิญหน้าระหว่างคนกับเสือ แม้นักเขียนทั้งสองจะประกอบสร้างตัวตนของเสือผ่านการอุปลักษณ์แบบการทำให้เป็นมนุษย์หรือ แอนโทรโปมอร์ฟิสม์ ตามแนวคิดที่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีคิดที่มนุษย์ครอบงำและกำหนดตัวตนของสัตว์ให้ขึ้นอยู่กับความเป็นมนุษย์มากกว่ายึดเอาสัตว์เป็นศูนย์กลาง  แต่ในงานเขียนทั้งสองเรื่องนี้ นักเขียนกลับใช้วิธีดังกล่าวเพื่อขับเน้นว่า ที่แท้แล้วสัตว์มีความเท่าเทียมกับมนุษย์ หรืออาจเหนือกว่ามนุษย์ในแง่ที่ว่า เสือคือ พลังอำนาจ ที่กระตุ้นเตือนให้มนุษย์เรียนรู้และตระหนักถึงความยิ่งใหญ่และการดำรงอยู่ของมันในธรรมชาติ อันนำมาซึ่งการประจักษ์แจ้งในตัวตน การมองเห็นสายสัมพันธ์อันแนบแน่นและเป็นหนึ่งเดียวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินั่นเอง


บทสรุป
         สัตวศึกษา (animal study) ในแนวทางของทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศ อาจยังเป็นหัวข้อใหม่ในแวดวงการศึกษาวรรณกรรมไทย  จึงยังไม่ค่อยปรากฏผลการศึกษาในลักษณะนี้มากนัก  ทั้งที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง   เพราะในวรรณกรรมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีเนื้อหากล่าวถึงสัตว์อยู่ไม่น้อย  สัตวศึกษาในมุมมองของการวิจารณ์เชิงนิเวศ เป็นอีกมิติหนึ่งของการศึกษาและตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นักประพันธ์หรือกวี ใช้กลวิธีใดบ้างในการนำเสนอภาพแทนของสัตว์ผ่านวรรณกรรมที่ตนเขียน เพราะการนำเสนอภาพแทนของสัตว์ก็ดี การประกอบสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ให้แก่สัตว์ก็ดี สามารถช่วยให้เราพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ และรวมไปถึงระบบคิดของคนต่อธรรมชาติด้วยเช่นกัน  ดังตัวอย่างวรรณกรรมไทยบางเรื่อง ที่บทความนี้ได้ลองนำมาศึกษาในเชิงสัตวศึกษาตามมุมมองของวรรณกรรมเชิงนิเวศ ทำให้พบว่า การนำเสนอสัตว์ในวรรณกรรมไทยนั้น นักเขียนไทยไม่ได้มองว่าเป็นเพียงแค่ สัตว์เดรัจฉานเท่านั้น  แต่มันยังสื่อความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่เรามองอย่างผิวเผิน

การอ้างอิง
กุนนาร์ รุนด์เกรน.(2557).อุทยานแห่งผืนดิน.แปลโดย เขมลักขณ์  ดีประวัติ,ชมพูนุท ดีประวัติ,วิภาพร ภูริ             ธนสาร และ กนกพร นัชนานนท์เทพ.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา
เฉลิมวุฒิ วิจิตร. (2558).สัตว์กับการกระทำทางจริยธรรมในพุทธศาสนาเถรวาท" ใน ดิน น้ำ ลมไฟ ธาตุ จักรวาล พิษ ภัยจากมุมมองมนุษยศาสตร์.(2558) จาตุรี ติงศภัทิย์, สุรเดช โชติอุดมพันธ์ และ อลิสา     สันตสมบัติ (บรรณาธิการ) กรุงเทพฯ :สยามปริทัศน์. 167-202.
ชาญชัย คงเพียรธรรม. (2559).  “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมเขมร”  วารสารภาษาและวัฒนธรรม       สถาบันวิจัย  ภาษา และวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.  30-06.
ธัญญา สังขพันธานนท์.(2559) แว่นวรรณคดี ทฤษฎีร่วมสมัย.ปทุมธานี : สำนักพิมพ์นาคร.
ละเอียด วิสุทธิแพทย์. (2522).ช้างในวรรณคดีสันสกฤตและวรรณคดีบาลี.วิทยานิพนธ์ (..) จุฬาลงกรณ์             มหาวิทยาลัย.
วรารัชต์ มหามนตรี. (2557). โลกทัศน์ของคนไทยจากภาษิต. พิษณุโลก: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย นเรศวร.
ศิลา โคมฉาย. (2540). ทางเสือ. พิมพ์ครั้งที่ 6 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร.
สมเพลิน ชนะพจน์ .(2549).การศึกษาเรื่องช้างในวรรณคดีพระพุทธศาสนา.วิทยานิพนธ์พุทธศาสตร        มหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา) มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
เสกสรรค์  ประเสริฐกุล. (2545). คนกับเสือ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สามัญชน.
โสภณ ชูช่วย. (2535). บทบาทพิเศษของม้าในวรรณคดีไทย.กรุงเทพมหานคร : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย.

Anderson, K. (2000). The Beast Within : Race, Humanity, and Animality. Environment           and  Planning D : Society and Space.18: 301-320.
Animal Welfare in Context. Retrieved October 8,2016, from   http://www.ourfutureplanet.  org/newsletters/resources/Animals/What%20is%20Anim            al%20W elfare.pdf.
Buell, Heise ,and Thornber. (2011). Literature and Environment . Annu. Rev.Environ.             Resour.36: 417-440.
Cavalieri, Paola. (2006). The Animal Debate A Reexamination in In Defense of Animals.The Second Wave . Ed. Peter Singer. (pp 54-68).Malden : Blackwell Publishing Ltd.
Clark,Timothy.(2011). The Cambridge Introduction to Literature and the        Environment.Cambridge : Cambridge University Press.
Craig, Alexader,David.(2014). Rationality, Animality, and Human Nature: Reconsidering         Kant’s View of the Human/Animal Relations.” Konturen 6: 5776.
London,Jack.(1998). The Call of the wild,White Fang and Other Stories,ed.Earle Labor and Robert C.Leitz. Oxford : Oxford University Press.
Dean,Thomas K. (1994). What is Eco-Criticism? Online, Avarable from           http://www.asle.   umn.edu/conf/other_conf/wla 1994/dean.html. Ursula K Hei\sen.         Html.
Donovan, Josephine. (2009). Tolstoy’s Animals. Society and Animals 17 (2009) 38-52.        
Elden,Stuart.(2006). Heidegger’s animals.Continental. Philosophy Review. 39: 273–291
Fernandez, Jasmine. (2014). Back to Nature: A Reading of Kiran Desai’s Hullabaloo in          the  Guava Orchard” An International Journal in English.Vol. 5, Issue-II (April 2014)        188-  195.
Garrard, Greg. (2004).  Ecocriticism: The New Critical Idiom. London and New York:    Routledg.
Haugann, Juritzen. Martine. (2015). Decentring the Wizard: An Analysis of the            Constructed  Discourses of Animality in the Harry Potter Series. A Thesis Submitted        to The  Department of Literature, Area Studies, and European Languages    .Reprosentralen, Universiteteti Oslo.    
Howard, Alan and Jan Rensel. (1991). Animals as Metaphors in Rotuman Sayings.    Retrieved         September 14,2016. from http://www.rotuma.net/os/howsel/17animals.html.
Lundblad, Michael. (2013). The Birth of a Jungle: Animality in Progressive-Era U.S.     Literature         and Culture. Oxford: Oxford UP. .
McHugh,Susan. (2006) One or Several Literary Animal Studies. Retrieved September 14,2016            https://networks.h-   net.org/node/16560/pages/32231/one-or-several-literary-animal-         studies-susan- mchugh
Melanie Barker.The Divine Interpretation: A Study of Metaphor in Dante's Inferno. Retrieved September 11,2016. From http://www.themystica.com/mystica/articles/d/divine_                     interpretation_the_%20a_study_of_metaphor_in_dante's_inferno.html     
 Mita Rajesh Shah.(2014). Ecocriticism in Meghaduta of Kalidas. International   Multidisciplinary  ResearchJournal. Volume-1, Issue-3, October 2014 (Online).
Mthatiwa,Syned. (2012) The “Rhetoric of Animality”, Animal Imagery, and Dr.Kamuzu Banda’s Dictatorship in the Poetry of Jack Mapanje. Nordic Journal of African Studies 21(2): 95117 (2012).
Nordin,Ingemar. (2001) Animal Don't have Rights : A Philosophical Study.Philosophical          Notes No. 62. Retrieved September 10,2016 from http://www.libertarian.co.uk/ lapubs/philn/philn062.pdf
Noske B. (1989). Humans and Other Animals: Beyond the Boundaries of Anthropology.        London:Pluto Pres.
Perkins, David.(2003) Romanticism and Animal Rights. Cambridge: Cambridge University       Press,
Pojman, P. Louis., Pojman,Paul and McShane,Katie (2012). Food Ethics, 2nd Edition.                       Boston: Wadsworth.
Pritchard,R Gregory. (2004). Econstruction: The Nature/Culture Opposition in Texts  about Whales and Whaling.  Thesis  Submitted in Total Fulfilment of the  Requirement of the Degree of Doctor of Philosophy.  Deakin University.
Proctor,S. Helen. Searching for Animal Sentience: A Systematic Review of the Scientific                     Literature. Animals 2013, 3, 882-906
Rajesh, Shah. Mita.    Ecocriticism in Meghaduta of Kalidas. International Multidisciplinary    Research  Journal. Volume-1, Issue-3, October 2014.
Regan,Tom.(1985). “The Case for Animal Rights” in In Defence of Animals, ed Peter             Singer.pp 13- 26. Oxford : Blackwell Publisher.
Rivo,Harriet,1991.The Animal Connection.in The Boundaries of Humanity. ed. J.J.Sheehan    and M.Sosna.Berkley: University of California Press,pp.68-84.
Rodriguez, I.L. (2009). Of women bitches, chickens and vixens: Animal metaphors for           women in English and Spanish. Culture, Language and Representation, 7, 77-100.
Soper, Kate. The Beast in Literature: Some Initial Thoughts. Comparative Critical      Studies.2.3      (2005): 303-9.
Swatilekha,Mahato. (2015). “Oppressive Construction of Animals: an Ecocritical Perspect